xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือพม่าวิกฤตหนัก เรือสินค้าแออัด หวั่นกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพมุมกว้างจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำหล่าย ในนครย่างกุ้ง เผยให้เห็นท่าเรืออุตสาหกรรมพม่า ที่ในช่วงหลายปีนับตั้งแต่พม่าเปิดประเทศ การขนส่งสินค้าได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานยังมีรองรับไม่เพียงพอต่อปริมาณเรือที่เพิ่มสูง ทำให้เกิดความแออัดและความล่าช้าในการขนถ่ายสินค้า. -- Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>

รอยเตอร์ - รัฐบาลใหม่ของพม่ากำลังต่อสู้ดิ้นรนต่อวิกฤตการจัดการทางเศรษฐกิจครั้งแรกของประเทศ เมื่อเกิดการจราจรติดขัดยาวนานหลายสัปดาห์ของบรรดาเรือส่งสินค้าที่ท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศ หวั่นสร้างความวิตกให้นักลงทุนที่มีศักยภาพ และขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

สถานการณ์ติดขัดที่ท่าเรือ เป็นผลจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กวาดชัยชนะในเดือน พ.ย.

“เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ท่าเรือแออัดหนาแน่น เรือไม่รู้จะไปทางไหน” ผู้อำนวยการจัดการบริษัท Ayuroma International ที่ปรึกษาท่าเรืออุตสาหกรรมพม่า (MIP) กล่าว

พม่าถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 7-8 ในช่วงหลายปีมานี้ นับตั้งแต่ทหารสละการควบคุมโดยตรงในปี 2554

แต่ท่าเรือหลักของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงอาจชะลอการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลใหม่ของซูจีจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามความคาดหวังที่สูงลิ่ว และฟื้นฟูประเทศที่ยากจนจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมานานหลายทศวรรษ

จำนวนเรือที่เข้าเทียบท่าในนครย่างกุ้งเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน และจำนวนตู้สินค้าก็พุ่งขึ้นถึง 4 เท่า เป็นผลให้พื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอ ระบบลอจิสติกส์รองรับไม่ทัน ทำให้การจัดส่งล่าช้า

“เรานำเข้าทั้งเหล็ก ซีเมนต์ ทุกอย่างเท่าที่คุณสามารถคิดออก ด้วยการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญของทุกการพัฒนาในประเทศ ดังเช่นพม่า คุณกำลังที่จะได้เห็นการเติบโตครั้งใหญ่ของการนำเข้าสินค้า” ผู้อำนวยการจัดการบริษัท Ayudroma International กล่าว

บริษัทเดินเรือสินค้าตะวันตกส่วนใหญ่จำกัดอยู่กับท่าเทียบเรือแห่งเดียวภายในท่าเรือ เพราะไม่เต็มใจที่จะใช้ท่าเทียบเรืออื่นที่ดำเนินการโดยบริษัท Asia World ที่ มีนายสตีเวน ลอว์ เป็นเจ้าของ และยังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

.
<br><FONT color=#000033>ตู้สินค้าจำนวนมากตั้งอยู่ภายในบริเวณเขตท่าเรือในนครย่างกุ้ง. -- Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>
.
จุดพลิกผันเข้าสู่ภาวะวิกฤตเกิดขึ้นเมื่อท่าเรืออุตสาหกรรมพม่าคำนวณปริมาณการขนส่งสินค้าที่เข้ามาก่อนวันหยุดยาวนาน 3 สัปดาห์ในเดือน เม.ย.ผิดพลาด ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวกิจการในพม่าส่วนใหญ่ปิดดำเนินการ ซึ่งหมายถึงว่า มีเรือมากถึง 10 ลำ ต้องเผชิญต่อความล่าช้าในการถ่ายสินค้าออกจากเรือนาน 2 สัปดาห์ ส่งผลให้เกิดการติดขัดขนาดใหญ่ที่บริเวณท่าเรือ และความล่าช้าที่เกิดขึ้นยังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์แก่บริษัทเดินเรือสินค้า

“ยังไม่มีความร่วมมือที่เหมาะสมระหว่างบริษัทเดินเรือ สถานที่จัดเก็บตู้สินค้า และผู้ควบคุมท่าเรือ มันเป็นความโกลาหล” เอ ละวิน เลขาธิการร่วมหอการค้าพม่า ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในท่าเรือ กล่าว

สำนักงานประธานาธิบดีพม่า ประกาศมาตรการฉุกเฉินในกลางเดือน พ.ค. ที่จะจัดการต่อปัญหาความแออัด ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินการท่าเรือและพิธีการศุลกากรตลอด 24 ชั่วโมง และสั่งให้มีการรายงานประจำวันจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และการขนส่ง

บริษัทจัดส่งสินค้ารายใหญ่บางบริษัท เช่น บริษัท Maersk Line Ltd ของเดนมาร์ก ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญของตัวเองมาช่วยจัดการสถานการณ์

ทัตซึยะ อุเอกิ ผู้อำนวยการจัดการบริษัทขนส่งสินค้า MOL Myanmar กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือตามไม่ทันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ท่าเรือที่ติดขัดตอกย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่รัฐบาลต้องเผชิญเพื่อรักษาการเติบโต และดึงดูดการลงทุนในประเทศที่กำลังพยายามที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในภาคส่วนต่างๆ เช่น การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ที่ขึ้นอยู่กับการจัดส่งที่ทันเวลา และเที่ยงตรง

“ระยะเวลาในการสั่งซื้อสินค้ามีความสำคัญมาก” เจคอป แคลร์ ที่ทำงานในโครงการซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอพม่า กล่าว

“หากต้องใช้เวลานานกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พวกเขา (แบรนด์เสื้อผ้า) จะเลี่ยงพม่าไปจนกว่าระยะเวลาจะสั้นลง” เจคอป แคลร์ กล่าว

อีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมในท่าเรือ คือ การปราบปรามการลักลอบขนน้ำตาลของทางการจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า ใแต่ละปี มีน้ำตาลมากถึง 1 ล้านตัน ถูกลักลอบขนไปจีน โดยส่วนใหญ่ขนมาจากอินเดีย และไทย ผ่านพม่า

ในเดือน มี.ค. ก่อนการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครอง รัฐบาลชุดก่อนออกใบอนุญาตการส่งออกให้ผู้ค้าน้ำตาล มีเรือ 4 ลำ มาถึงท่าเรือ และถ่ายตู้สินค้าลงประมาณ 20,000-30,000 ตู้ แต่ด้วยท่าเรือปิดทำการชั่วคราวในช่วงวันหยุดยาวเดือน เม.ย. ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตู้ได้ และการเพิ่มการตรวจสอบของจีนทำให้ตู้สินค้าของพม่าต้องติดอยู่ที่ชายแดน เป็นผลให้ตู้สินค้าจำนวนมากไม่สามารถขนย้าย และการสัญจรติดขัดเกิดขึ้นทุกทางที่มุ่งสู่ท่าเรือในนครย่างกุ้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น