MGRออนไลน์ - ชาวลาวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเมืองหลวงพากันเป็นเดือดเป็นแค้น เมื่อพบว่า บิลค่าไฟฟ้าที่ส่งถึงบ้านในช่วง 2 เดือนมานี้ สูงขึ้นเท่าตัว หรือหลายเท่าตัว มีคนนับพันๆ แสดงออกความไม่พอใจผ่านสื่อออนไลน์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงสาเหตุ แต่ถึงกระนั้นรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว (ฟฟล) ก็ยังไม่สามารถตอบข้อข้องใจ ประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อนได้
แต่ในช่วงเดียวกันนี้ ฟฟล ได้จัดพิธีเซ็นความตกลงการลงทุนกับบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่ง เพื่อปรับปรุงระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่จะจดหน่วยการใช้ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ และเป็นตัวเลขจริงจากการใช้ของลูกค้าครัวเรือนต่างๆ และยอมรับว่า ที่ผ่านมา เป็นการจดมิเตอร์แบบคาดเดาที่อาจจะไม่ใช้การใช้ไฟจริง ก็ยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้นไปอีก
“มันเป็นการปล้นชัดๆ ปล้นแบบหน้าด้านๆ..” ชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งเขียนระบายความอัดอั้นในสื่อประชาสังคม และยังมีผู้คนอีกไม่น้อยระบายอารมณ์ค้างคาในทำนองเดียวกันนี้
“มันเป็นแบตเตอรี่ (เอเชีย) แบบไหน ทำไมชาวลาวจึงต้องใช้ไฟฟ้าราคาแพงขนาดนี้” นี่คือคำถามร่วมที่พบเห็นมากที่สุดตามเว็บไซต์ข่าวภาษาลาว ในช่วงข้ามวันมานี้ หลายคนได้นำเอาวิดีโอคลิปข่าวของสถานทีโทรทัศน์ในไทยไปเผยแพร่ แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเดียวกันนี้ การไฟฟ้าของไทยปรับลดค่าไฟฟ้าลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ราคาไฟฟ้าในลาวที่ผลิตได้เองกลับปรับขึ้น
ความไม่พอใจของผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นกระแสรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อบุคคลอย่างน้อย 3 คน ที่ทราบกันดีว่า เป็นพนักงานรัฐสาหกิจไฟฟ้าลาว ออกตอบโต้ความไม่พอใจของประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ถ้าหากเห็นว่าไฟฟ้าราคาแพงก็ไม่ควรใช้ เพราะรัฐบาลไม่ได้บังคับให้ใช้ อีกคนหนึ่งบอกว่า ควรจะซื้อตะเกียงมาใช้แทน หรือรวมญาติพี่น้องลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเอง
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้เกิดกระแสความไม่พอใจคล้ายกันนี้ ประชาชนจำนวนมากบ่นว่า ค่ากระแสไฟฟ้าในลาวนั้นแพงเกินไป แต่ ฟฟล ออกยืนยันว่า ปัจจุบันเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และยังถือว่าต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน
.
ตามรายงานของ “ลาวพัดทะนา” หนังสือพิมพ์ของสมาคมนักข่าวแห่งชาติ ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนในนครเวียงจันทน์ เพิ่มขึ้นมากมายอย่างผิดปกติในระยะ 2 เดือนมานี้ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ที่ปรารถนาจะได้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงโดยเร็ว เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนทั่วไป รวมทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่ พนักงานของรัฐ ทหาร ตำรวจด้วย
“พนักงานที่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา คนหนึ่งบอกนักข่าวพวกเราว่า - โดยปกติแล้วที่บ้านจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ หนึ่งแสนกีบ (400 บาทเศษ) แต่พอเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสี่แสนกีบ" ลาวพัดทะนารายงาน แสดงให้เห็นค่ากระแสไฟฟ้าที่พุ่งขึ้น 4 เท่าตัว โดยไม่ทราบสาเหตุ
“ประชาชนหลายครอบครัวที่บ้านโพนสะอาด (เมืองไซทานี) ก็มีสภาพเดียวกัน พวกเขาเห็นบิลค่าไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว บางครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ..”
ในช่วงเดียวกันนี้ ชายหนุ่มชาวเมืองสีโคดตะบองคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเพียงลำพังได้นำบิลค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค. ออกแสดงในโลกออนไลน์ ให้เห็นค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล จากเดือนละประมาณ 1 แสนกีบเมื่อก่อน กลายเป็นกว่า 66 ล้านกีบ (66,078,346) ซึ่งทำให้ชาวออนไลน์แทบจะไม่เชื่อในสิ่งที่มองเห็น
“ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน เพราะหลายครอบครัวก็เผชิญปัญหาเดียวกัน” ลาวพัดทะนา กล่าว
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ชี้ว่า ประชาชนทั่วไปรับทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว สามารถปรับค่ากระแสไฟฟ้าขึ้นปีละ 2% ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้ แต่การเพิ่มขึ้นทวีคูณ เช่่น ช่วง 2 เดือนมานี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานรับผิดชอบควรออกชี้แจงให้สาธารณชนทั่วไปหายสงสัยโดยเร็ว
.
ในที่สุด วันที่ 25 พ.ค. จึงได้มีหนังสือคำสั่งฉบับหนึ่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ถึงผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงสำรวจตรวจตราตามที่ประชาชนร้องเรียน ซึ่งทำให้การไฟฟ้านครเวียงจันทน์จัดทีมออกแถลงข่าว และตอบข้อซักถามของสื่อ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าหน้าที่พูดถึงกลับเป็นเพียงหลักการ และนโยบายของรัฐบาลในการขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าปีละ 2% และแนะนำประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้บิลค่าไฟสูงขึ้น แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดในหลายกรณีค่าไฟฟ้าจึงพุ่งขึ้นอย่างผิดปกติ
แต่อย่างน้อยที่สุด การแถลงข่าวในตอนค่ำวันพุธ เจ้าหน้าที่ได้ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การไฟฟ้าจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าครัวเรือต่างๆ โดยวิธีประมาณการ แต่ปัญหานี้กำลังได้รับการแก้ไข โดยจะใช้ระบบมิเตอร์ใหม่แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จดหน่วยตามตัวเลขจริงตั้งแต่ปลายปีนี้่เป็นต้นไป.
.
2
3
4
5