ซินหวา - แรงงานชาวพม่าราว 50,000 คน ที่ทำงานในอุตสหากรรมประมงของไทย ได้ขอลาออก และเดินทางกลับประเทศ และเชื่อว่าจะมีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากทำตามแบบเดียวกันนี้ในอีกไม่ช้า
แรงงานต่างด้าว ที่รวมทั้งผู้ที่ถูกจ้างงาน และพักในไทยมาเป็นเวลาหลายปี ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับประเทศ และจะไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยอีก ตามการเปิดเผยของ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร
จ.สมุทรสาคร เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทย แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่มักได้รับการว่าจ้างทำงานเป็นคนงานในอุตสาหกรรมประมง และการแปรรูปอาหาร รวมทั้งเป็นแรงงานไร้ฝีมืออยู่ในภาคการก่อสร้าง และแม่บ้าน
นายกำจร กล่าวว่า แรงงานชาวพม่าจำนวนมากได้เริ่มหยุดทำงานจากเรือประมง ที่หลายลำต้องจอดทอดสมอเนื่องจากขาดใบอนุญาตประกอบการ หรือไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามเรือ ที่อาจละเมิดกฎระเบียบกรมประมง หรืออาจถูกกล่าวหาจากสหภาพยุโรปในการทำธุรกิจประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)
กฎระเบียบของกรมประมงยังเรียกร้องให้เรือประมงออกทะเลได้ไม่เกิน 220 วันต่อปี และที่เหลือ 145 วัน ให้พักบนฝั่ง
สหภาพยุโรปที่ซื้อสินค้าประมงจากไทยราว 500 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เรียกร้องให้ทางการไทยตรวจสอบว่า ไม่มีแรงงานต่างด้า วหรือแรงงานที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ถูกจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย และถูกละเมิดสิทธิบนเรือลากอวน และไม่มีเรือประมง หรือกัปตันเรือดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาต
นายกำจร ระบุว่า จากข้อหา IUU ที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เรือลากอวนจำนวนมากต้องหยุดทำงานเพื่อรอติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น และออกใบอนุญาต รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ทำให้ลูกเรือพม่าจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ และจะไม่กลับมาทำงานที่เพิ่งได้ลาออกไป
หัวหน้าสมาคมประมง กล่าวว่า อุตสาหกรรมประมงของ จ.สมุทรสาคร ทั้งในทะเล และบนบกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และคาดว่าจะมีแรงงานชาวพม่าอีกมากอาจลาออกจากงานใน จ.สมุทรสาคร หรือที่อื่นๆ ในไทย และเดินทางกลับบ้านตามแรงงาน 50,000 คน ที่เพิ่งลาออก
รัฐบาลใหม่ของพม่า กล่าวว่า จะดำเนินขั้นตอนในการส่งเสริมโครงการการลงทุนในภาคส่วนการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวของประเทศที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานพม่าที่ได้ออกเดินทางจากไทยไปจะต้องการมองหางานในพม่าแทน.