รอยเตอร์ - ชาวเวียดนามหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงบริษัทไต้หวันในวันนี้ (1) ที่กล่าวหาว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตายตามแนวชายฝั่งภาคกลางของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังกล่าวโทษรัฐบาลที่ตอบสนองภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่เชื่องช้า
แม้เจ้าหน้าที่สืบสวนไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างเหตุปลาตายกับโรงงานเหล็กริมชายฝั่ง มูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์ ที่ดำเนินการโดยบริษัทในเครือของบริษัทฟอร์โมซาพลาสติก ของไต้หวัน แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อบริษัทก็ไม่ลดน้อยลง
ชาวเวียดนามหลายร้อยคนรวมตัวกันในกรุงฮานอย ถือป้ายประท้วงที่เขียนข้อความว่า “ฟอร์โมซาทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรม” และ “ใครทำให้น้ำทะเลเป็นพิษ” นอกจากนั้น ยังมีข้อความเขียนว่า “ฟอร์โมซาออกไปจากเวียดนาม” รวมทั้งมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลที่ไม่สนใจในสิ่งที่ถูกอธิบายว่าเป็นภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ
การชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งที่หาได้ยากในเวียดนาม และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบมักเข้าปราบปรามอย่างรวดเร็ว แต่ในวันอาทิตย์ (1) เจ้าหน้าที่ได้เคลียร์การจราจรเพื่ออนุญาตให้ผู้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณทะเลสาบกลางกรุงฮานอย
ปลาตายเป็นจำนวนมหาศาลเริ่มปรากฏขึ้นที่ฟาร์มเลี้ยง และชายหาดนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. ส่งผลกระทบชายฝั่งยาว 200 กิโลเมตร ใน 4 จังหวัด โดยไม่ทราบสาเหตุ
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้บริษัทหุ่งเหงียบฟอร์โมซาห่าติ๋ง ขุดท่อระบายน้ำของโครงการโรงงานเหล็กเพื่อให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบการระบายน้ำได้
การสอบสวนเบื้องต้นของรัฐบาล ระบุว่า สาเหตุอาจเป็นได้ทั้งปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือการปล่อยสารพิษโดยมนุษย์
แต่สิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมากคือ ความเห็นของเจ้าหน้าที่บริษัทฟอร์โมซา ที่กล่าวว่า เวียดนามต้องเลือกระหว่างการจับปลา และกุ้ง กับการสร้างอุตสาหกรรมเหล็กที่ทันสมัย
“ที่นี่คือดินแดนของเวียดนาม และจะไม่มีกรณีใดที่โรงงานเหล็กของฟอร์โมซาจะมีสิทธิบอกให้ชาวเวียดนามเลือก” ผู้ชุมนุมประท้วงรายหนึ่ง กล่าว
นอกจากการชุมนุมที่กรุงฮานอยแล้ว ยังมีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนเดินขบวนในนครโฮจิมินห์ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามการระบุของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวเวียดนาม
แต่สื่อที่ทางการควบคุมไม่ได้รายงานการชุมนุมประท้วงใดๆ
สื่อสังคมออนไลน์ และผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงยังเกิดขึ้นใน จ.กว๋างบิ่ง เมื่อวันศุกร์ (29) ที่ชาวประมงทิ้งปลาลงบนถนนเนื่องจากไม่สามารถขายปลาที่จับได้
รัฐบาลได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรช่วยซื้ออาหารทะเลที่จับได้จากการทำประมงน้ำลึก.
.
.
.
.