MGRออนไลน์ -- ขับรถข้ามโขงเข้าเวียงจันทน์ต้องรู้ ตำรวจจราจรในเมืองหลวงของลาว เริ่มบังคับใช้มาตรการเพิ่มค่าปรับเป็น 10 เท่าตัวแล้วในเดือนนี้ สำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎจรจาจรในความผิดต่างๆ กัน ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไปที่ละเมิด จะต้องจ่ายค่าปรับ 1,200 บาทต่อครั้ง เกือบ 3,000 บาทสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สูงถึง 6,000 บาทสำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ และ กว่า 8,000 สำหรับรถสิบล้อขึ้นไป
มาตรการนี้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าครอง (ผู้ว่าราชการ) นครเวียงจันทน์ ที่ออกเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลาย ในช่วงหลังปี 2561 นอกจากนั้่นยังเป็นไปตามโครงการ ทำให้เวียงจันทน์เป็นเมืองสะอาด ถนนหนทางมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย "พาหนะขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค โรงงาน และ ท้องฟ้าสะอาดงดงาม"
มาตรการเพิ่มค่าปรับจราจรเป็น 10 เท่านี้ เริ่มบังคับใช้ในย่านใจกลางเมือง ก่อนจะขยายออกสู่รอบนอก มาตรการยังประกอบด้วยการประกาศให้ริมทางหลวงแห่งชาติ และ เส้นทางหลักสายต่างๆ รวม 21 เส้นทาง เป็นเขต "ห้ามจอด" รวมทั้งถนนสุพานุวง-ถนนหลวงพระบาง (ขึ้นเหนือ) ถนนเสดถาทิลาด ถนนสามแสนไท ถนนฟ้างุม (เลียบโขง) ถนนล้านช้าง ถนนอาซี (ถนนเอเชียน/เต-3 เดิม) ถนนกำแพงเมือง ถนนท่าเดื่อ
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา เมื่อวันที่ 4 ก.พ. กองบังคับการตำรวจจราจรเมืองจันทะบูลี ประเดิมมาตรการใหม่ใช้รถเครนตระเวนยกรถใหญ่จำนวนหลายสิบคัน ออกจากริมถนนเสดถาทิลาด ที่กลายเป็นเหตุห้ามจอดรถทุกชนิด
ค่าปรับสำหรับผู้กระทำผิดกฎระเบียบในเขตต้องห้ามต่างๆ รถจักรยานยนต์ทั่วไปจากเดิมปรับ 30,000 กีบ คูณด้วย 10 เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 กีบ (1,250 บาท) 500,000 กีบ (2,085 บาท) สำหรับรถตุ๊กตุ๊ก 700,000 กีบ (2,900 บาท) สำหรับรถเก๋ง รถตู้ กระบะ และ รถเบาทั่วไป เพิ่มเป็น 1,000,000 กีบ (ราว 4,100 บาท) สำหรับรถโดยสาร 4 ล้อ ส่วนบรรทุก 6 ล้อเป็น 1,500,000 กีบ (6,200 บาท) และ 10 ล้อขึ้นไป 2,000,000 ล้านกีบ หรือ 8,200 บาท
การสัญจรในตัวเมืองมีความแออัด การจราจรหนาแน่น รถติดเป็นช่วงและกินเวลายาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์จะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การจรจาติดขัดในนครเวียงจันทน์นั้น มีสาเหตุจากจำนวนยวดยานที่เพิ่้มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะ ที่มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยราว 15% หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนาอ้างรายงานฉบับหนึ่ง ของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง
หลายปีมานี้ทางการนคร ได้ใช้หลายมาตรการทั้งในระยะสั้นระยะยาว เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์การใช้รถใช้ถนนของชาวเมือง ไม่ว่าจะเป็นกำหนด เส้นทางเดินรถแบบวันเวย์ กำหนดเส้นทางเลี้ยวขวาตลอด กำหนดเส้นทางที่ให้จอดวันคู่-วันคี่ ติดตั้ง "ไฟอำนาจ" เพิ่มตาม 3 แยก และ 4 แยกอีกหลายจุด รวมทั้งจัดเวลาเข้าเรียนของนักเรียน ก่อนเวลาเข้าทำงานในภาครัฐ
รัฐวิสาหกิจรถเมล์เวียงจันทน์ยังจัดทำบัตรโดยสารรถเมล์พิเศษ สำหรับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในอัตราเพียง 400,000 กีบ (1,650 บาท) ต่อปี เพื่อช่วยประหยัด และ ดึงดูดให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนของรัฐ
รถเมล์เวียงจันทน์ได้ใช้รถเมล์รุ่นใหม่ ทันสมัยขนาด 45 ที่นั่ง จากญี่ปุ่นจำนวน 42 คัน มาตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้ความช่วยเหลือขององค์การไจก้า ปัจจุบันกำลังก่อสร้างสถานีจอดรถเมล์ และ สถานีขนส่งที่บริเวณสถานีตลาดหัวขัว (หัวสะพาน) แทนที่ของเดิมที่คับแคบ เก่าและล้าสมัย และ ก่อสร้างอู่ซ่อมทันสมัยอีก 2 แห่ง
ในเวียงจันทน์กำลังมีการก่อสร้าง ระบบรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชน BRT (Bus Rapid Transit) ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะใช้รถเมล์ด่วนปรับอากาศทันสมัยเกือบ 100 คัน จัดซ่อมแซมถนนอีกหลายสาย ทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จปีหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยผ่อนคลายปัญหาการจราจรได้มาก.