MGRออนไลน์ -- ถึงแม้เวียดนามจะมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์น้ำขนาดใหญ่ และ อยู่ในฐานะที่น่าห่วงใย ใกล้สูญพันธุ์ซึ่งรวมทั้งกระโห้ยักษ์และปลาบึกด้วยก็ตาม แต่ก็ยังมีร้านอาหารในนครโฮจิมินห์ชำแหละปลายักษ์เหล่านี้ สนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูน้ำทรง ปลาทั้งหมดส่งข้ามแดนไปจากประเทศกัมพูชา
ตามรายงานของซิงออนไลน์ ร้านอาหารใหญ่แห่งหนึ่งในนครโฮจิมินห์ เพิ่งชำแหละปลาบึกขนาดใหญ่ไปอีก 1 ตัว น้ำหนัก 200 กิโลกรัมเศษ แต่นี่ก็เป็นเพียงตัวที่ 3 หรือ 4 ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ยังไม่นับปลาบึกที่มีขนาดเล็กกว่า ที่ส่งข้ามแดนไปจากกัมพูชาเช่นเดียวกัน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีผู้พบปลาบึกที่อาศัยในธรรมชาติจำนวนมากขึ้น ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงภาคใต้เวียดนามเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดอุทกภัยใหญ่ในอนุภูมิภาคในปลายปี 2554 และ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทางการเวียดนามไม่อนุญาตให้ราษฎรที่อาศัยตามลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงจับปลาบึกขึ้นจากลำน้ำลำธาร
ทางการยังไม่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ เพื่อการพาณิชย์อีกด้วย เนื่องจากจะทำให้ควบคุมการล่าปลายักษ์ในแม่น้ำได้ยากขึ้น แต่ร้านอาหารในโฮจิมินห์บางแห่งก็ยังคงมีเมนูปลาบึก เสริ์ฟลูกค้าสม่ำเสมอตลอดทั้งปี
ซิงออนไลน์กล่าวว่า วันจันทร์ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ร้านอาหารใหญ่แห่งหนึ่งในท้องที่อำเภอที่ 4 โฮจิมินห์ นำปลาขนาดใหญ่ออกชำแหละหลายตัว พร้อมขึ้นป้ายเชิญชวนลูกค้า ซึ่งรวมทั้งปลาบึกขนาดยาว 2 เมตรเศษ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 210 กก.ตัวหนึ่งด้วย
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2558 ร้านอาหารใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเขตอำเภอที่ 7 ได้ซื้อปลาบึกตัวยาวเกือบ 2 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 200 กก. อีก 1 ตัวไปเสิร์ฟลูกค้าเช่นกัน
เดือนเดียวกันนั้น ร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งในโฮจิมินห์ได้นำปลาบึกยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนัก 230 กก. ออกชำแหละ โดยซื้อไปในราคาประมาณ 230 ล้านด่ง (ราว 17,700 ดอลลาร์ หรือ 379,000 บาทเศษ) นับเป็นตัวใหญ่ที่สุด เท่าที่มีการนำเข้าสู่นครใหญ่แห่งภาคใต้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หรือ อย่างน้อยก็เท่าที่เคยเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ
"ปลาตัวนี้ติดอวนชาวประมงกัมพูชา ในทะเลสาปใหญ่" ซิงออนไลน์กล่าว
.
2
3
ปลาบึกได้ชื่อเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นปลากินพืชใต้น้ำ เป็น "ปลามังสวิรัติ" เนื้อจึงได้รับความนิยมมาก ถึงแม้ราคาจะแพงมาก โดยชาวกัมพูชากับชาวเวียดนาม ต่างเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา จากพืชสมุนไพร และ ไขมันของปลาบึกยังมีสารโอเมกา 3 สูงมาก ช่วยบำรุงสมองอีกด้วย
เมื่อโตเต็มที่ปลาบึกอาจจะยาวถึง 3 เมตร หนักถึง 300 กก. แต่ไม่เคยมีผู้พบเห็นปลาบึกขนาดใหญ่เช่นนั้น ในแม่น้ำโขงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และ หลายประเทศในย่านนี้ รวมทั้งไทยและกัมพูชาต่างร่วมมือกับองค์การ และหน่วยงานอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง ทำการอนุรักษ์ป้องกันมิให้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับสัตว์น้ำหายากอีกหลายชนิดในแถบนี้
ปลาบึกถูกขึ้นทะเบียนใน "บัญชีแดง" (Red List) โดยสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ หรือ International Union for Conservation of Nature โดยมีฐานะ "เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงมาก"
หลายปีมาแล้วที่ไม่มีการจับปลาบึกขนาดใหญ่ขึ้นจากแม่น้ำโขงทั้งในไทย ลาว และ เวียดนาม หากมีผู้จับได้ทางการในท้องถิ่นก็จะขอให้ปล่อยกลับคืนลงสู่แม่น้ำ สำหรับในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เนื้อปลาในเชิงพาณิชย์ แต่ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการเพาะเลี้ยงในกัมพูชา
สื่อเวียดนามกล่าวว่า ปลาบึกถูกขนจากทะเลสาปใหญ่ ผ่านตลอดไปตามทางหลวงสายที่ 1 ข้ามแดนที่ด่านชายแดนบ่าเว็ต (Bavet)-หม็อกบ่าย (Moc Bai) ซึ่งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กม. แต่ที่น่าประหลาดใจ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล การขนย้ายปลาต้องห้ามชนิดนี้เข้าประเทศ.