เอพี - ศาลกัมพูชาออกหมายเรียกใหม่กับ สม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ให้มารับทราบข้อหาหมิ่นประมาท ที่เพิ่มเติมจากหมายเรียกและหมายจับที่มีอยู่ก่อนแล้ว
สม รังสี ที่ลี้ภัยตัวเองตั้งแต่กลางเดือนพ.ย. หลังมีคำสั่งจับกุมตัวจากคำตัดสินเก่าในความผิดฐานหมิ่นประมาทรัฐมนตรีต่างประเทศ เขายังถูกปลดจากตำแหน่งในรัฐสภา ที่ทำให้เสียสิทธิคุ้มกัน แม้คำตัดสินดังกล่าวซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี ถูกมองว่าเป็นโมฆะจากการพระราชทานอภัยโทษในปี 2556 แล้วก็ตาม
กี เตค ทนายความ ระบุว่าได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท ต่อสม รังสี ในนามของเฮง สัมริน ประธานรัฐสภา
ผู้สนับสนุนสม รังสี เชื่อว่าปัญหาทางกฎหมายเหล่านี้ถูกบงการโดยนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ในการตอบโต้ต่อความแข็งแกร่งทางการเมืองที่ขยายตัวขึ้นของฝ่ายค้าน และบนหน้าเฟซบุ้ควานนี้ (2) สม รังสี ระบุว่า ทางการกัมพูชาใช้ระบบยุติธรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
คดีความที่เกิดขึ้นกับสม รังสี พร้อมกับเหตุโจมตีฝ่ายค้าน แสดงให้เห็นถึงการสิ้นสุดการสงบศึกทางการเมืองระหว่างฮุนเซนกับฝ่ายค้านที่บรรลุกันในปี 2557 เพื่อยุติการคว่ำบาตรรัฐสภา หลังฝ่ายค้านกล่าวหาพรรคของฮุนเซนขโมยชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2556
สมาชิกรัฐสภาที่เป็นฝ่ายค้านทั้งหมดไม่เข้าร่วมการประชุมสภาในวันจันทร์ (30) เพื่อคว่ำบาตรการอภิปรายงบประมาณรัฐปีถัดไป และเรียกร้องให้ฮุนเซนพบกับสม รังสี
หมายจับที่ออกเมื่อกลางเดือนพ.ย. เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาของสม รังสี ในปี 2551 ต่อฮอร์ นัมฮอง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ว่าฮอร์ นัมฮอง มีส่วนรู้เห็นในการปกครองของ
เขมรแดง และต่อมาในปลายเดือนพ.ย. ศาลออกหมายเรียกให้สม รังสี เข้าฟังข้อหาเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร การใช้เอกสารปลอม และการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการโพสเฟซบุ้คของสมาชิกพรรคกู้ชาติกัมพูชาของสม รังสี ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับพรมแดนกับเวียดนาม
พรรคของสม รังสี เปิดประเด็นโจมตีทางการเมืองในปีนี้ ด้วยการมุ่งเน้นถึงสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านระบุว่าเป็นการเสียดินแดนของชาติให้กับเพื่อนบ้านเวียดนาม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาตอบโต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการฟ้องศาลต่อบรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ และตัดสินโทษรุนแรงภายใต้กระบวนการที่น่าสงสัย
สำหรับหมายเรียกล่าสุดมีขึ้นจากข้อร้องเรียนที่ว่า สม รังสี กล่าวให้ร้าย เฮง สัมริน พันธมิตรทางการเมืองของฮุนเซน ด้วยการอ้างว่าขณะที่เฮง สัมริน เป็นประธานาธิบดีของกัมพูชา เขาได้กล่าวหาสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เป็นผู้ทรยศ
ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายค้าน ยังรวมถึงการทำร้ายสมาชิกสภาของพรรค CNRP โดยกลุ่มม็อบที่สนับสนุนรัฐบาล และการปลดแกม สุขา รองหัวหน้าพรรค CNRP จากตำแหน่งรองประธานสภาโดยการลงมติของพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นเสียงข้างมากในสภา.