xs
xsm
sm
md
lg

อลังการณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินลาว ตัดริบบิ้น 9 ธค.ฤกษ์ใหญ่ฉลองชัย 40 ปี รับรองไร้มลพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ควันพวยพุ่งขึ้นจากปล่องยักษ์ 2 ปล่อง ในภาพล่าสุดสัปดาห์ทีแล้ว ซึ่งหมายความว่า หน่วยปั่นไฟหน่วยที่ 2 เดินเครื่องตามกำหนดแล้วในเดือน พ.ย.นี้ หลังจากหน่วยที่ 1 เริ่มปั่นไฟตั้งแต่ มิ.ย. ส่วนปล่องที่ 3 ยังนิ่ง ขณะที่สื่อของทางการรายงานว่า โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินแห่งแรกที่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบจะสมบูรณ์ 100% กำหนดเปิดใช้อย่างเป็นทางการ 9 ธ.ค.นี้. -- หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา.  </b>

MGRออนไลน์ -- ลาวประกาศฤกษ์ใหญ่เปิดโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างเป็นทางการวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบปีที่ 40 การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางการได้ให้ความมั่นใจต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง โรงไฟฟ้าหงสาจะไม่ก่อมลพิษใดๆ ในสภาพแวดล้อม และ เหมืองถ่านหินใหญ่มีถ่านหินปริมาณกว่า 570 ล้านตัน เกินพอสำหรับผลิตไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทาน 30 ปี

โรงไฟฟ้าหงสาประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้าจำนวน 3 หน่อย มีกำลังติดตั้งหน่วยละ 626 เมกะวัตต์ หน่วยที่ 1 เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าส่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และ ตามกำหนดเดิมนั้น บริษัทไฟฟ้าหงสาจำกัด (Hongsa Power) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ มีกำหนดเดินเครื่องปั่นไฟหน่วยที่ 2 ภายในเดือน พ.ย.นี้ และ หน่วยที่ 3 ในเดือน มี.ค.2559

ตามรายงานในเว็บไซต์บริษัทไฟฟ้าหงสา หน่วยปั่นไฟ 2 เริ่มผลิตไฟฟ้าวันที่ 2 พ.ย.ทีผ่านมา

หนังสือพิมพ์ "ลาวพัดทะนา" รายงานเรื่องนี้สัปดาห์ที่ผ่าน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า พิธีในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เป็นเพียงการเปิดใช้อย่างเป็นทาง ที่ประกอบด้วยหน่วยปั่นไปเพียง 2 หน่วยแรก หรือ รวมทั้งหน่วยที่ 3 (ที่ติดตั้งแล้วเสร็จก่อนกำหนด?) ด้วย สื่อของทางการระบุแต่เพียงว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสาแล้วเสร็จเกือบจะสมบูรณ์ 100% ในขณะที่เว็บไซต์ของบริษัทผู้ดำเนินการ ยังระบุกำหนดเวลาเดิม คือ มี.ค.ปีหน้า

อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของสมาคมนักข่าวแห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ ตามมาตรฐานธนาคารโลก ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ การก่อสร้างและการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าใหญ่ ติดตั้งระบบสกัดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้ง "อุปกรณ์ดักจับสิ่งเศษเหลือ" ในกระขวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานสากล และ กลายเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ได้รับการยอมรับจากชุมชนในท้องถิ่น

สื่อของทางการกล่าวว่า บริษัทเจ้าของโครงการ ได้เคร่งครัดในการตรวจตรามาตลอดระยะเวลาก่อสร้าง และ จะดำเนินต่อไปตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี รับประกันจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และ สุขภาพของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เมืองหงสา กับพื้นที่ใกล้เคียงอย่างแน่นอน

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้ถ่านหินผลิตจากเหมือง ที่อยู่ในเขตเดียวกัน ซึ่งข้อมูลของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวระบุว่า มีปริมาณสำรองถึง577 ล้านตัน โดยคาดว่าตลอดอายุสัมปทานจะใช้ประมาณ 380 ล้านตันเท่านั้น หรือ ประมาณ 13.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าจะมีถ่านหินเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป ตลอดอายุขัยของโรงไฟฟ้า

โครงการยังประกอบด้วยเขื่อนอีก 2 แห่ง คือ เขื่อนน้ำเลือก กับเขื่อนน้ำแกน ซึ่งทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ที่จะต้องใช้เป็นปริมาณมากถึง 45 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการขับเคลื่อนกังหันในการปั่นไฟ เนื่องจากความร้อนไม่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าโดยตรงได้

เขื่อนทั้งสองแห่งยังสนองน้ำ ให้แก่เนื้อที่เพาะปลูกของประชาชนได้ประมาณ 250 เฮกตาร์ (กว่า 2,100 ไร่) และ ยังสามารถนำไปใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับชาวเมืองหงสาได้อีก
.
<br><FONT color=#00003>การติดตั้ง-ทดสอบเครื่องปั่นไฟหน่วยที่ 2 โรงไฟฟ้าหงสา แล้วเสร็จวันที่ 2 พ.ย.2558 โดยบริษัทวิศวกรรมไฟฟ้าแห่งชาติจีน (China National Electic Engineering Co - CNEEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาติดตั้งเครื่องปั่นไฟทั้ง 3 หน่วย. -- ภาพ: บริษัทไฟฟ้าหงสา.  </b>
2
นอกจากโรงไฟฟ้า เหมืองถ่านหิน กับ อ่างเก็บน้ำ โครงการไฟฟ้าหงสายังประกอบด้วยระบบสายส่งไฟฟ้าแรงดัน 500 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ สำหรับส่งเข้าไทยและส่งเข้าระบบไฟฟ้าของลาวตามลำดับ เพื่อใช้ในแขวงภาคเหนือ

บริษัทผู้ดำเนินการยังจะต้อง จัดหาพื้นที่พัฒนากสิกรรม และ จัดอบรมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ปลูกสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ กับบ้านเรือนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จัดสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อย่างมีคุณภาพ ตัดถนนเชื่อมเมืองหงสากับชายแดน จ.น่าน ของไทยที่อยู่ห่างออกไปราว 35 กิโลเมตร

โรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต 1,878 เมกะวัตต์แห่งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินแห่งแรก เริ่มก่อสร้างปี 2553 เมื่อเปิดเดินเครื่องครบทั้งสามหน่วย ไฟฟ้าที่ผลิตได้ปริมาณ 1,478 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้แก่ไทย ที่เหลืออีก 400 เมกะวัตต์ ขายให้รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าลาว

บริษัทไฟฟ้าหงสาเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนใน สปป.ลาว ประกอบด้วยผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือหุ้น 40% บริษทบ้านปูพาวเวอร์จำกัด ในกลุ่มบริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชน) จากไทย ถืออีก 40% และ รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นนิติบุคคลของรัฐบาลลาว ถือส่วนที่เหลืออีก 20%

ตั้งอยู่ในเขตเมือง (อำเภอ) หงสา แขวง (จังหวัด) ไซยะบูลี โครงการไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวครั้งแรก เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว แต่ผู้ลงทุนจากประเทศไทย ติดขัดเรื่องเงินทุนในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนเวลาในสัญญา ต่อมารัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ยึดคืนโครงการ และผู้ลงทุนจากประเทศไทยอีกรายหนึ่งได้รับสิทธิ์ ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่ตั้งแต่ 2559-2584

นอกจากโรงไฟฟ้าใหญ่แห่งนี้ สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้านับสิบแห่ง จะเริ่มปั่นไฟในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ตามแผนการทำให้ลาวเป็น "แบตเตอรี่แห่งอนุภูมิภาค".
กำลังโหลดความคิดเห็น