รอยเตอร์ - โครงการสนามบินนานาชาติที่ล่าช้ามาเป็นเวลานานในพม่า ต้องเลื่อนก่อสร้างออกไปอีก 4 ปี เหตุขาดแคลนทุน สื่อของรัฐ และแหล่งข่าวเผยวันนี้ (28)
บริษัทจากเกาหลีใต้วางแผนที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติหันตาวดี (Hanthawaddy) บนพื้นที่สนามบินญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้กับเมืองพะโค ห่างจากนครย่างกุ้ง ไปทางเหนือราว 100 กิโลเมตร แต่โครงการก่อสร้างเป็นอันต้องพับไปหลังทำพิธีวางศิลาฤกษ์ได้ไม่นานในปี 2537
หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐ รายงานว่า สนามบินนานาชาติแห่งที่ 4 ของประเทศคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า
“วันดำเนินการสนามบินนานาชาติแห่งที่ 4 ของประเทศเลื่อนออกไปจากปี 2561 เป็นปี 2565 เนื่องจากความล่าช้าในการเจรจาขอความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA)” หนังสือพิมพ์รายงานคำกล่าวของ มิน ละวิน อู รองผู้อำนวยการกรมการบินพลเรือนพม่า
เจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงคมนาคมที่ไม่เปิดเผยชื่ออีกรายหนึ่งยืนยันว่า โครงการนี้ต้องล่าช้าออกไปเพราะความยากลำบากในการจัดหาทุน
“ถ้าพูดกันตามตรง งานก่อสร้างยังไม่สามารถเริ่มขึ้นได้เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการเจรจาขอ ODA” เจ้าหน้าที่อาวุโส กล่าว
โครงการก่อสร้างสนามบินถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2555 เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเยือนพม่าเพิ่มขึ้นมากจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเมือง หลังรัฐบาลพลเรือนขึ้นบริหารประเทศ แต่โครงการสนามบินแห่งนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการขาดแผนที่จะขนย้ายผู้โดยสารไปยังนครย่างกุ้ง
ในปี 2557 กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น-สิงคโปร์ ที่ชื่อ Yongnam-CAPE-JGCC ชนะประมูลสร้างสนามบินในมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ โดย 49% ของทุนจะมาจากเงินกู้ยืมเพื่อการพัฒนา และส่วนที่เหลือเป็นการกู้ยืมของภาคเอกชน และกลุ่มบริษัท
สนามบินหันตาวดี ตั้งเป้าให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่ 12 ล้านคนต่อปี ขณะที่สนามบินนานาชาติที่อยู่ในนครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และกรุงเนปีดอ ให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถของสนามบินแล้วในขณะนี้
รายงานระบุว่า ในปี 2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนพม่ามากถึง 5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคน ในปี 2557 และเทียบกับ 2.04 ล้านคนในปี 2556 และ 1.05 ล้านคน ในปี 2555 ขณะที่สนามบินในนครย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์กำลังดำเนินการขยาย และปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น.