เวียดนามเน็ต - หากเวียดนามตัดสินใจร่วมมือกับไทยแทนที่จะแข่งขันกัน ทั้งสองประเทศจะสามารถขายข้าวได้ในราคาที่ดีขึ้นมากกว่าราคาที่ฟิลิปปินส์เป็นผู้กำหนด นักวิเคราะห์ชาวเวียดนามแสดงความเห็น
ภายใต้กลไกในปัจจุบัน องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NFA) เลือกผู้ส่งออกข้าวผ่านการประมูล ผู้ส่งออกที่ได้รับเลือกต้องเสนอราคาที่ต่ำที่สุดโดยต้องอยู่ภายใต้เพดานราคาที่ NFA กำหนดไว้ หากผู้ส่งออกทั้งหมดเสนอราคาที่สูงกว่าเพดานราคา NFA ก็จะจัดการประมูลครั้งใหม่หรืออาจแยกหารือกับผู้ส่งออกแต่ละราย และจะเลือกผู้ส่งออกที่ยอมขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าเพดานราคานั้น
นักวิเคราะห์ชาวเวียดนามระบุว่า กลไกดังกล่าวทำให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายรุก ในขณะที่ผู้ส่งออกซึ่งรวมทั้งเวียดนาม และไทยจะกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ หากเวียดนาม และไทยร่วมมือกัน ทั้งสองประเทศจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าวได้
ฟิลิปปินส์ ซื้อข้าว 1.8 ล้านตันทุกปี มีสัดส่วนเท่ากับ 10% ของปริมาณการส่งออกข้าวต่อปีรวมทั้งหมดของสองประเทศ หากเวียดนาม และไทยไม่สามารถขายข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์ แต่ละประเทศจะมีข้าว 1 ล้านตันเพิ่มในสต๊อก
แต่หากเวียดนาม และไทยยืนยันจะขายข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์ภายใต้กลไลดังกล่าว ทั้งคู่จะต้องขายข้าวในราคาถูกลง ซึ่งราคาที่ต่ำลงนี้จะถูกผู้นำเข้าข้าวรายอื่นๆ ใช้อ้างอิงเมื่อต้องเจรจาต่อรองสัญญา นั่นหมายความว่า เวียดนาม และไทยไม่เพียงแต่จะต้องขายข้าวในราคาถูกให้แก่ฟิลิปปินส์ แต่ยังต้องขายข้าวสำหรับส่งออกทั้งหมด 18 ล้านตัน ในราคาเดียวกันนี้
หากเวียดนามไม่สามารถเป็นฝ่ายเริ่มในการส่งออกข้าว ความพยายามทั้งหมดในการพัฒนาการผลิตข้าว และการรับรองกำไรให้แก่เกษตรกรก็จะสูญเปล่า
นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า ผลผลิตข้าวของเวียดนาม และไทยเมื่อรวมกันแล้วมีสัดส่วนเป็น 50% ของข้าวทั้งหมดในตลาดโลก หากทั้งคู่ร่วมมือกัน ทั้งสองประเทศจะไม่เพียงแต่เป็นฝ่ายรุกในการขายข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์ แต่ยังจะสามารถควบคุมราคาตลาดโลกได้ด้วย
ในความเป็นจริง รัฐบาลเวียดนามได้รับการเสนอแนะให้ร่วมมือกับไทย และประเทศอื่นๆ ตั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าว เนื่องจากความร่วมมือนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะช่วยพัฒนาการผลิตข้าวของเวียดนาม และไทย และเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยปกป้องผลกำไรของเกษตรกรชาวเวียดนาม และเกษตรกรชาวไทย
รายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ระบุว่า นับจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 2.1 ล้านตัน ทำรายได้ 870 ล้านดอลลาร์ ปริมาณส่งออกลดลง 10% ส่วนมูลค่าการส่งออกลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 และจนถึงตอนนี้ เวียดนามมีสัญญาส่งออกข้าวอยู่อีก 3.5 ล้านตัน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราว 8%
ส่วนไทย และอินเดียที่เป็นประเทศคู่แข่งรายใหญ่ของเวียดนาม มีข้าวอยู่ในสต๊อก 15-16 ล้านตัน และ 23 ล้านตัน ตามลำดับ.