xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเดินหน้าจัดเลือกตั้งเดือน พ.ย. แม้หลายพื้นที่ยังมีความขัดแย้งชาติพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) (ขวา) เดินพูดคุยกับ ติน เอ ประธานคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหภาพ (ซ้าย) ก่อนเข้าร่วมการประชุมในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ติน เอ ระบุว่า คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย. ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งจะประกาศในเดือนส.ค.--Agence France-Presse/Soe Than Win.</font></b>

รอยเตอร์ - พม่าวางแผนที่จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. แม้เผชิญต่ออุปสรรคในการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แล้วเสร็จในหลายพื้นที่ของประเทศที่ยังคงประสบกับปัญหาความขัดแย้งชาติพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งระบุวานนี้ (26)

พม่า กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ที่นับเป็นการเลือกตั้งอย่างเสรีเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี และยังถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่าหลังการปกครองของทหารนาน 49 ปี ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อปี 2553

“การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.” ติน เอ ประธานคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหภาพพม่า กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (26) และระบุว่า คณะกรรมาธิการจะประกาศวันเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริงในเดือน ส.ค.

หนึ่งในปัญหาอุปสรรคต่างๆ คือ การจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่รวมทั้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศตามพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดความขัดแย้งชาติพันธุ์ และพลเมืองชาวพม่าหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ติน เอ กล่าว

เหตุไม่สงบทางชาติพันธุ์เป็นปัญหายาวนานในพม่านับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 2491

อุปสรรคเดียวกันนี้ยังขัดขวางการสำรวจจำนวนประชากรครั้งแรกของประเทศในรอบ 30 ปี ในปี 2557 ที่พม่าลงทะเบียนประชากรได้ 51.4 ล้านคน น้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 10 ล้านคน

สำหรับรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งจะประกาศในช่วงเดือน ก.ย. และการรณรงค์หาเสียงจะอนุญาตให้ดำเนินการได้เป็นเวลา 60 วัน แต่การลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญควรมีขึ้นหลังจากนั้น ติน เอ ระบุ

ก่อนหน้านี้ มีการหารือในหมู่นักการเมืองชั้นนำเกี่ยวกับการจัดการลงประชามติในช่วงเวลาเดียวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อแก้ไขมาตราที่เป็นข้อถกเถียงที่สงวนอำนาจให้แก่กองทัพ และห้ามนางอองซานซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การลงประชามติต้องได้รับการสนับสนุนจากทหาร และนักการเมืองยังไม่ได้ระบุว่า มาตราใดในรัฐธรรมนูญที่พวกเขาจะพิจารณาเปลี่ยนแปลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น