xs
xsm
sm
md
lg

เขมรแข็งจริงๆ ยื่นบันทึกตอกหน้าทูตสหรัฐฯ “ไร้มารยาท-แส่กิจการภายใน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<FONT color=#00003>ภาพวันที่ 1 ส.ค.2555 เมื่อครั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกัมพูชา นายวิลเลียม ทอดด์ (William Todd) ไปรับตำแหน่งใหม่ และเข้าเยี่ยมคำนับนายเกียตชน (Kiet Chhon) รองนายกฯ ซึ่งครั้งนั้นยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการเงิน วันนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐโดนบันทึกประท้วงจากรองนายกฯ อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงสำคัญการต่างประเทศ ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมาที่สุด รวมทั้ง ไร้มารยาทอย่างยิ่ง และ แทรกแซงกิจการภายใน ของกัมพูชาด้วย. -- ภาพ: สำนักข่าวกัมพูชา/Hun Yuth Kun. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้ยื่นบันทึกทางการทูต ต่อสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงพนมเปญในวันพุธ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นายวิลเลียม ทอดด์ (William Todd) ได้วิจารณ์ร่างกฎหมายว่าด้วยองค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาล โดย นายฮอร์นัมฮอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กับความร่วมมือระหว่างประเทศระบุว่า นายทอดด์ ได้แทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา และไม่เคารพอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยการทูต ซึ่งเอกอัครราชทูตผู้แทนที่มีอำนาจเต็มที่ไปประจำในประเทศอื่นๆ จะต้องเคารพกฎหมายเจ้าของประเทศนั้นๆ

บันทึกประท้วงของนายฮอร์นัมฮอง ยังใช้ถ้อยคำรุนแรงหลายคำ เช่น ไร้มารยาท, ยโสโอหัง เป็นต้น

หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ได้ตีพิมพ์ความเห็นของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในฉบับประจำวันที่ 19 พ.ค. โดยพาดหัวข่าวว่า All Eyes on NGO Law : Todd (สายตาทุกคู่กำลังจ้องดูกฎหมายเอ็นจีโอ) ซึ่งเป็นการเสนอข่าวจากการสัมภาษณ์ความเห็น

รัฐบาลกัมพูชาร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสมาคมและองค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาล (Draft Law on Association and the Non-Governmental Organization)” และอยู่ในขั้นตอนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา การดำเนินการเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ถูกมองว่า กำลังหาทางสกัดบทบาทของเอ็นจีโอที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญของกัมพูชา ที่จัดร่างขึ้นมาเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีขึ้นหลังจากรัฐบาลกัมพูชาเกิดความขัดแย้งกับเอ็นจีโอหลายกลุ่มและหลายครั้ง ซึ่งฮุนเซน เคยกล่าวว่า เอ็นจีโอแสดงอำนาจบาตรใหญ่มากจนเกินไป ไม่เคารพกฎหมายของกัมพูชา และในหลายกรณีที่ผ่านมา กัมพูชาเองจะไม่ต่อวีซ่าให้แก่เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอที่มีปัญหาต่อรัฐบาลเมื่อวีซ่าของพวกเขาหมดอายุลง ซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในประเทศนี้ได้อีกต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเอ็นจีโออย่างหนัก รวมทั้งจากองค์การสหประชาชาติด้วย ทำให้นายฮอร์นัมฮอง เรียกตัวแทนของ 4 หน่วยงานยูเอ็นที่ประจำกัมพูชา เข้าพบในวันพฤหัสบดีนี้ ..

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์พนมเปญโพสต์ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ในฉบับวันพุธ โดยระบุว่า ..

- “เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากความสนใจนี้ กัมพูชาจะต้องแสดงภาพลักษณ์ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดึงดูดเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์”

- “ภาพลักษณ์ของกัมพูชาได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายเอ็นจีโอ“ และ “ผมขอเข้าร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องเพื่อให้มีการดำเนินการ” ในการผลักดันให้รัฐบาลกัมพูชา เผยแพร่ร่างกฎหมายว่าด้วยเอ็นจีโอ และให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจัง”

- “ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชากำลังจะดำเนินการในขั้นต่อไป เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องตระหนักว่าโลกกำลังเฝ้าจับตามองอยู่”

ตามรายงานของสำนักข่าวกัมพูชา ในวันพฤหัสบดีนี้กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ตอบโต้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ผ่านบันทึกทางการทูตดังนี้..

- ถ้อยคำที่ระบุโดยเอกอัครราชทูตของต่างประเทศประจำกัมพูชานั้น ช่างไร้มารยาทอย่างยิ่ง (extremely insolent) แม้ว่าเขาจะเป็นตัวแทนของประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งก็ตาม

- กัมพูชาเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ร่างกฎหมายอะไรก็ตาม หรือการเสนอกฎหมายอะไร ก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

- ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทุกประเทศ จะใหญ่หรือเล็ก จะต้องเคารพกันและกัน อย่างมีลักษณะเท่าเทียม และเคารพอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตปี ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) และการปฏิบัติทางสากลเกี่ยวกับการเคารพกันในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

บันทึกประท้วงของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้หยิบยกมาตรา 41.1 ของอนุสัญญากรุงเวียนนา ปี ค.ศ.1961 ที่กำหนดให้นักการทูตทุกคนใช้สิทธิพิเศษ รวมทั้งสิทธิคุ้มกัน โดยเคารพกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศนั้นๆ และเอกอัครราชทูตมีหน้าที่ที่จะต้อง “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้นๆ” ดังนั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐควรจะเคารพในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามให้สัตยาบรรณเมื่อปี ค.ศ.1972

ในการประชุม พบปะกับผู้แทน 4 หน่วยงาน ขององค์การสหประชาชาติในกัมพูชาด้วยตนเอง วันพฤหัสบดีนี้ นายฮอร์นัมฮอง ก็ได้แจ้งให้ทุกคนต้องเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอ็นจีโอของกัมพูชา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เด็ก ผู้หญิง และประชากรของกัมพูชา และไม่ได้ร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อขัดขวางกิจกรรมของเอ็นจีโอ แต่กัมพูชาต้องการเห็นเอ็นจีโอดำเนินงานอย่างโปร่งใสในประเทศนี้ สำนักข่าวซินหวาของจีนรายงาน.
กำลังโหลดความคิดเห็น