xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามเสี่ยงล้ม หลังบริษัทรถจ่อนำเข้ารับภาษี 0%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>สภาพการจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนบนถนนสายหนึ่งในกรุงฮานอย นอกจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนแล้ว ผู้บริโภคชาวเวียดนามยังชื่นชอบรถยนต์นำเข้ามากกว่ารถประกอบในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์พิจารณาที่จะยุติการผลิตรถในเวียดนามและหันไปนำเข้ารถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แทน.--Reuters/Kham.</font></b>

เตื่อนแจ๋ - อุตสาหกรรมรถยนต์ในเวียดนามกำลังเผชิญต่อความเสี่ยง หลังโตโยต้าประกาศว่าอาจหยุดประกอบรถในเวียดนาม จากกรณีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในอนาคต

การประกาศของโตโยต้าเมื่อช่วงต้นเดือน ที่ นายโยชิฮิสะ มารุตะ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เวียดนาม ระบุว่า กำลังพิจารณาที่จะยุติการผลิต และหันไปมุ่งเน้นการนำเข้ารถเพื่อใช้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

ชาติสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

ตามแผนของข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ระบุว่า รถยนต์ที่มีจำนวนที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง ที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน มีอัตราภาษี 50% ในปีนี้ จะปรับลดเหลือ 40% ในปีหน้า และ 30% ในปีถัดไป และเหลือเพียง 0% ในปี 2561

ด้วยเหตุดังกล่าว การคาดการณ์แนวโน้มตลาด และการเปลี่ยนแปลงของอัตราภาษีนำเข้า ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเริ่มย้ายจากการประกอบรถไปเป็นการนำเข้ารถตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

จากการเยือนสำนักงานของบริษัทร่วมทุน Vinastar (VSM) ที่เชี่ยวชาญในการผลิตรถมิตซูบิชิ ในเขตถูดึ๊ก นครโฮจิมินห์ ในเดือน เม.ย. สื่อเวียดนามรายงานว่า พื้นที่จอดรถที่รองรับรถนำเข้าได้ประมาณ 200 คัน มีรถมิตซูบิชิ ปาเจโร ที่ประกอบในประเทศจอดอยู่เพียงไม่กี่คัน

นายคาซุฮิโระ ยามะนะ ผู้อำนวยการใหญ่ VSM กล่าวว่า โรงงานของเขาที่ประกอบรถยนต์หลายรุ่นในช่วงที่ผ่านมา ในเวลานี้มีเพียงแค่การประกอบรถรุ่นปาเจโรเท่านั้น ด้วยขนาดการผลิต 100 คันต่อเดือน ในช่วงรุ่งเรือง โรงงานของ VSM สามารถผลิตรถยนต์ได้ 410 คันต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป บริษัท VSM ได้ลดขนาดการผลิตของโรงงานลง

ในปีงบประมาณ 2557 ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2557 สิ้นสุดที่เดือน มี.ค.2558 บริษัท VSM ขายรถได้ทั้งหมด 2,530 คัน จากจำนวนดังกล่าวเป็นรถที่นำเข้าจากไทย และญี่ปุ่นมากถึง 65.6%

บริษัท VSM เป็นสมาชิกในสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) มีสัดส่วนการนำเข้ารถยนต์สูงที่สุด แม้ภาษีนำเข้าจะสูงขึ้น แต่บริษัท VSM ระบุว่า ราคารถยนต์ที่นำเข้ามาทั้งคัน (CBUs) นั้นยังคงมีราคาถูกกว่ารถยนต์ที่ประกอบขึ้นในเวียดนาม ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้น

“เป้าหมายของเราคือ หาวิธีที่จะขายรถได้ในราคาต่ำสุด ไม่ว่าจะรถนำเข้า หรือประกอบในประเทศ แต่ด้วยหลายเหตุผล รถนำเข้าทั้งคัน 5 รุ่น ที่เรานำเข้าเพื่อขายในเวียดนามมีราคาถูกกว่ารถประกอบในประเทศ” ยามะนะ กล่าว

โยชิฮิสะ มารุตะ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เวียดนาม กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อประกาศแผนการดำเนินงานของบริษัทสำหรับปี 2558 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ว่า บริษัทอาจจะยุติการผลิตรถในเวียดนาม และนำเข้ารถจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์จากภาษีนำเข้า 0% ในปี 2561

โตโยต้า มอเตอร์ เวียดนาม ปัจจุบันนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่เพื่อผลิตในเวียดนาม แต่อีกไม่นานนี้บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ทั้งคันจากไทยที่มีราคาถูกกว่าประกอบในประเทศ และในปี 2561 จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ตามการเปิดเผยของ มารุตะ ซึ่งนั่งตำแหน่งประธาน VAMA ด้วย

มารุตะ กล่าวในการประชุมว่า VAMA ยังไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลเวียดนามนั้นจะมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการผลิตรถยนต์แบบใดโดยเฉพาะ ทำให้สมาชิกของกลุ่มยังไม่สามารถวางแผนการผลิตได้

ส่วนการคำนวณของผู้ผลิตรถยนต์ ระบุว่า ราคารถประกอบในเวียดนามมีอัตราเฉลี่ยสูงกว่ารถยนต์ในประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนอื่นๆ 2.5 เท่า เมื่อราคารถที่ผลิตในประเทศสูงกว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับรถยนต์นำเข้าก็ลดลง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราภาษีการบริโภคพิเศษ ที่ใช้ต่อการผลิต หรือนำเข้าสินค้าเฉพาะ และการให้บริการบางอย่าง ขณะที่ภาษีสำหรับรถนำเข้าทั้งคันตั้งอยู่บนฐานของราคาที่รวมค่าผลิต ค่าระวาง และประกันภัยสินค้า แต่รถประกอบในประเทศยังต้องคำนวณบนพื้นฐานของราคารถที่ถูกขายให้แก่ตัวแทนจำหน่าย กำไรทางธุรกิจ ค่าขนส่งจากสถานที่ผลิตไปยังตัวแทน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าโฆษณา อีกด้วย

“วิธีการคำนวณภาษีนี้ทำให้ราคารถที่ผลิตในประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถนำเข้าอย่างน้อย 5%” ยามะนะ กล่าว และว่า การยุติการผลิตยังพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าด้วย เนื่องจากรถนำเข้าตอบสนองความสะดวกสบายได้มากกว่าในราคาที่ถูกกว่า”

หลังเรียนรู้วิธีขับ และเข้าร่วมการทดลองขับรถยนต์ 4 ที่นั่งประกอบในประเทศ ลูกค้าท้องถิ่นรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงฮานอย ตัดสินใจที่จะซื้อรถมิตซูบิชิ แอททราจ CVT นำเข้าจากไทย ในราคากว่า 600 ล้านด่ง (ประมาณ 894,400 บาท)

“หลังจากทดลองขับรถยนต์ผลิตในประเทศของเพื่อนหลายคน ผมรู้สึกว่ารถนำเข้าคันนี้รู้สึกสบายมากกว่า และมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากกว่า ทั้งเครื่องเล่นดีวีดี หน้าจอระบบสัมผัส เบาะหนัง ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบกุญแจอัจฉริยะ และประหยัดน้ำมัน ในราคาที่ไม่แพงมากนัก” ลูกค้าจากกรุงฮานอย กล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รถยนต์ผลิตในต่างประเทศดึงดูดความสนใจผู้ซื้อท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก ด้วยความคิดที่ว่า รถต่างประเทศนั้นมีคุณภาพดีกว่ารถที่ประกอบในประเทศ เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2557 สำนักงานสถิติใหญ่เวียดนาม (GSO) รายงานว่า เวียดนามใช้จ่ายเงินไปกว่า 1,570 ล้านดอลลาร์ในการนำเข้ารถยนต์ 72,000 คัน ปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 103.8% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 117.3% เมื่อเทียบกับปี 2556.
กำลังโหลดความคิดเห็น