xs
xsm
sm
md
lg

คนงานโรงงานรองเท้าในเวียดนามหลายพันคนผละงานประท้วงสิทธิประกันสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>คนงานของโรงงาน Pou Yuen Vietnam รวมตัวผละงานประท้วงเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมเป็นวันที่ 5 ในนครโฮจิมินห์ วันที่ 31 มี.ค.--Reuters/Stringer.</font></b>

รอยเตอร์ - คนงานหลายพันคนของโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งในภาคใต้ของเวียดนาม ผละงานประท้วงสิทธิประกันสังคมต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ในวันนี้ (31) นับเป็นความไม่สงบเกี่ยวกับแรงงานที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประเทศที่วางตำแหน่งตัวเองเป็นแหล่งการผลิตของเอเชียในอนาคต

ผู้เห็นเหตุการณ์ในเขตอุตสาหกรรมชานนครโฮจิมินห์ ระบุว่า แรงงานจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ทั้งภายนอก และภายในโรงงานของบริษัท Pou Yuen Vietnam ผู้ผลิตรองเท้าให้กับบริษัทต่างๆ เช่น Nike Adidas Lacoste Converse และ Reebok

บริษัท Pou Yuen Vietnam จ้างงานแรงงานเกือบ 80,000 คน ภายใต้การควบคุมงานของบริษัท Yue Yuen Industrial Holdings Ltd ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Pou Chen Corp ที่จดทะเบียนในไต้หวัน

การผละงานประท้วงเป็นเรื่องที่พบได้ยากในเวียดนาม ประเทศที่ควบคุมโดยพรรคการเมืองเดียวอย่างเข้มงวด และเป็นที่ทราบกันว่า มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันเหตุไม่สงบทั้งทางสังคม และแรงงาน ดังที่กระทบต่อผู้ผลิตสิ่งทอคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น จีน และกัมพูชา

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เวียดนามมีชื่อเสียงว่าเป็นที่ปลอดภัยสำหรับบริษัทต่างๆ เช่น Gap H&M และ Zara ซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้ได้ช่วยเพิ่มการเติบโตของภาคการส่งออกต่อปี โดยในปี 2557 ภาคตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 15.8 ในมูลค่า 20,800 ล้านดอลลาร์ และภาคการผลิตรองเท้าที่ 21.6% มูลค่า 10,200 ล้านดอลลาร์

บรรดาคนงานชุมนุมกั้นถนนที่อยู่ใกล้ๆ โรงงานวานนี้ (30) ตามการรายงานของเว็บไซต์ข่าวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐซึ่งรายงานเนื้อหาอย่างจำกัด และเว็บไซต์ข่าววีเอ็นเอ็กซ์เพรส ระบุว่า โรงงานที่อยู่ใกล้เคียงต้องปิดดำเนินการด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

คนงานเหล่านี้ไม่พอใจกฎหมายประกันสังคมที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจำกัดขอบเขตสิทธิการชำระเงินก้อนหากพวกเขาออกจากงาน

ด้านบริษัทแม่ของบริษัทในเวียดนาม ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ และเจ้าหน้าที่เมืองกำลังพยายามที่จะจัดการแก้ไขปัญหา

“บริษัทได้ให้พวกเขาหยุดงาน 1 วันในวันนี้ และเรากำลังหารือกับคนงาน” เหวียน เจิ่น เฟือง รองประธานสหภาพแรงงานนครโฮจิมินห์ กล่าว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่เวียดนาม พยายามจะดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ด้วยปัจจัยด้านแรงงานค่าแรงถูก การตัดลดภาษี และการเข้าร่วมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าส่งออกรายใหญ่.
กำลังโหลดความคิดเห็น