เอเอฟพี - ในวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ครอบครัวชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต่างเลือกซื้อต้นส้มจี๊ด สัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผลไม้รสชาติอร่อย แต่ในตอนนี้กลับกลายเป็นผลไม้ที่ไม่มีใครกล้าทาน เพราะเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าท้องถิ่น
แม้ปัญหาความปลอดภัยทางอาหารของเวียดนามจะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกเช่นจีน แต่ผู้บริโภคชาวเวียดนามก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน และยากำจัดศัตรูพืชหลายอย่างที่ชาวเวียดนามกลัวมากที่สุดนั้นมาจากชายแดน
“ตอนนี้ต้นไม้ทุกต้นเต็มไปด้วยยากำจัดศัตรูพืช แม้แต่ผักที่ซื้อมาจากตลาดทุกวัน” มัก ถิ ฮวา ครูเกษียณอายุชาวเวียดนามรายหนึ่งกล่าว
เช่นเดียวกับชาวเวียดนามคนอื่นๆ ที่ซื้อต้นส้มจี๊ดมาฉลองวันปีใหม่ มัก ถิ ฮวา เคยปรุงส้มจิ๋วกับน้ำตาลทำเป็นของหวาน แต่ตอนนี้เธอเลิกทำเพราะกลัวปัญหาสุขภาพ
“คนขายอ้างว่าไม่ได้ใช้สารเคมี แต่ฉันไม่เชื่อหรอก” หญิงเวียดนามอายุ 65 ปี กล่าวและว่า ตอนนี้เธอใช้ต้นส้มแค่ประดับตกแต่งบ้านเท่านั้น
เกษตรกรผู้ปลูกต้นส้มจี๊ด กล่าวว่า หากต้องการกำไรพวกเขาก็จำเป็นต้องขายต้นไม้แบบไร้ที่ติ และต้องทำให้มั่นใจว่า ส้มทั้งต้นสุกพร้อมกันก่อนปีใหม่ หรือเทศกาลเต๊ต เพื่อให้รองรับความต้องการที่มีอย่างมหาศาล
“นี่เป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ย ต้นส้มจี๊ดจะไม่สวย หากไม่ใช้สารเคมี” เหวียน ถิ ห่าง เกษตรกรรายหนึ่ง กล่าว
“ถ้าคุณทานส้มสดจากต้น นั่นไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพของคุณแน่นอน” เหวียน ถิ ห่าง กล่าวและว่า ผู้บริโภคควรรอเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนนำส้มไปล้างอย่างพิถีพิถันเพื่อกำจัดสารเคมีตกค้างก่อนบริโภค
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้ต้นส้มจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง แต่ก็ได้กลายเป็นภัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนนั้นแพร่ไปอย่างกว้างขวางในเวียดนามได้อย่างไร
แม้เวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าว กาแฟ และอาหารทะเลรายใหญ่อยู่แล้ว แต่เวียดนามก็กำลังพยายามที่จะส่งเสริมการส่งออกผักและผลไม้ ที่ขยายตัวขึ้น 36% เมื่อเทียบต่อปี ในปี 2557 ที่ 1,460 ล้านดอลลาร์
การผลิตเพื่อการส่งออกมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดสำหรับสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้าม ที่ก่อนหน้านี้ผลไม้ของเวียดนามถูกห้ามส่งออกในตลาดสำคัญเช่น ญี่ปุ่น จนทำให้ต้องพัฒนาปรับปรุง
แต่ภายในประเทศ ผู้บริโภคยังคงต้องเสี่ยงดวงที่ตลาด
ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงจับจ่ายสินค้าในตลาดสด ที่เปิดโล่งและมักไม่ถูกสุขลักษณะ และยังคงมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหาร เมื่อพบว่าสินค้ามีปริมาณสารพิษตกค้างเกินกว่าระดับที่ได้รับอนุญาต และสื่อของทางการมักรายงานเหตุพบวัตถุกันเสียต้องห้ามในสินค้าที่นำเข้าจากจีน
ตัวเลขของทางการระบุว่า เมื่อปีก่อน เวียดนามนำเข้ายาฆ่าแมลงมากกว่า 770 ล้านดอลลาร์ และผู้เชี่ยวชาญระบุว่ายังมีอีกมากที่ลักลอบข้ามพรมแดนผิดกฎหมายจากจีน
การวิจัยของกระทรวงเกษตรเวียดนามพบว่า อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเกษตรกรทั้งหมด ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างถูกต้อง
"ยาฆ่าแมลงทุกชนิดเป็นอันตราย แต่ผมคิดว่าปลอดภัยพอถ้าทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด" หวู ฮิว ญึง เกษตรกร กล่าว ขณะฉีดพ่นสารเคมีลงบนแปลงกระหล่ำปลี ในนิคมซางซา ชานกรุงฮานอย แต่ก็ระบุว่าไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากจีนที่ใช้อยู่นั้นมีอะไรบรรจุอยู่บ้าง
ตามการระบุของ ศาสตราจารย์เหวียน วัน ถ้วต รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางการเกษตร การใช้ยาฆ่าแมลงมากเกินไปส่งผลเสียอยู่แล้ว และอาจเลวร้ายยิ่งขึ้น
"เกษตรกรบางรายเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ใช้ ทำให้ทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคเสี่ยงกับพิษของสารเคมียิ่งขึ้น สารเคมีอาจกำจัดแมลงที่มีประโยชน์ และอาจก่อให้เกิดโรคระบาดของพืชต่างๆ" ศาสตราจารย์เหวียน วัน ถ้วต กล่าว
การใช้สารเคมีอันตรายไม่ถูกระเบียบอย่างกว้างขวางก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนาม ศาสตราจารย์ถ้วต ระบุ
ผู้บริโภครู้สึกลังเล ไม่รู้ว่าจะซื้อสินค้าที่ปลอดภัยได้จากที่ไหนอย่างไร และสูญเสียความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าของประเทศ นอกจากนั้นยังเผชิญกับความเสี่ยงของการปนเปื้อนแบคทีเรียอันเนื่องมาจากมาตรฐานสุขอนามัยตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร
ในเดือนธ.ค. สมาคมมาตรฐานและการคุ้มครองผู้บริโภคของเวียดนาม ระบุว่าตรวจพบเชื้ออีโคไลถึง 90% ในตัวอย่างผักในกรุงฮานอย
ปัญหาความปลอดภัยทางอาหารมีแนวโน้มรุนแรงในเวียดนามเนื่องจากเมนูอาหารดั้งเดิมมักประกอบไปด้วยผักสดหรือผ่านการปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บริษัทท้องถิ่นบางรายพยายามที่จะผลิตสินค้าออร์แกนิคให้มากขึ้น แต่เวียดนามเองยังไม่มีกระบวนการรับรองหรือทดสอบและหลายรายดิ้นรนค้นหาปุ๋ยอินทรีย์และต่อสู้กับปัญหาการปนเปื้อนทางเคมี และไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนที่พร้อมจะจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับผักออร์แกนิค เช่น มัก ถิ ฮวายังคงเลือกที่จะเสี่ยงดวงในตลาดมากกว่า
"สะอาดหรือไม่สะอาด เราก็ต้องกินผักผลไม้ทุกวัน ท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องตาย ก็น่าจะตายแบบท้องอิ่มมากกว่า" ฮวา กล่าว.