เอเอฟพี - กองทัพทหารพม่ากล่าวต่อรัฐสภาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ระบุห้ามนางอองซานซูจี หัวหน้าฝ่ายค้านจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี เพียงไม่กี่วันหลังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการแก้ไข
ผู้แทนทหารที่มีสิทธิยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ กล่าวคัดค้านการแก้มาตราที่ระบุห้าม ซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ระหว่างการอธิปรายดุเดือดที่สามารถส่งผลต่ออนาคตของประเทศหลังการเลือกตั้งสำคัญในปี 2558
“ผมต้องการให้ทุกคนจำไว้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เพื่ออนาคตของทุกคน” พ.อ.ไต นาย กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาในวันนี้ (18)
พ.อ.ไต นาย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จะเป็นเรื่องน่ากังวลหากบุตรของประธานาธิบดีของประเทศเราเป็นพลเมืองต่างชาติ
อดีตสามี และบุตรชาย 2 คน ของซูจี เป็นชาวอังกฤษ ทำให้ ซูจี ไม่มีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของประเทศตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ
เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่ประกาศความตั้งใจว่า จะเป็นประธานาธิบดี ได้กล่าวต่อประธานาธิบดีโอบามา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย และเตือนว่า การปฏิรูปของพม่านั้นกำลังหยุดชะงัก
ฝ่ายผู้นำสหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่บ้านพักริมทะเลสาบของซูจีว่า กระบวนการแก้ไขจำเป็นที่จะต้องสะท้อนถึงการผนวกรวมเข้าด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นการกีดกัน
ผู้แทนทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา เป็นสิ่งที่ยังคงตกค้างจากการปกครองระบอบทหารที่สิ้นสุดไปเมื่อปี 2554 ที่รับประกันว่ากองทัพยังคงมีอำนาจอยู่
ภายใต้มาตรา 436 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใดๆ จำเป็นต้องได้เสียงส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 75 ของรัฐสภา ซึ่งตลอดปีมานี้ นางอองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนาง ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนได้ประมาณ 5 ล้านชื่อ ที่ร่วมสนับสนุนคำร้องต้องการให้ยุติอำนาจยับยั้งของกองทัพต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กองทัพทหารพม่าไม่สนใจต่อแรงกดดันที่เรียกร้องให้แก้ไขมาตราดังกล่าว
พ.อ.ไต นาย กล่าวว่า ยังไม่ใช่เวลาที่จะแก้ไขมาตรา 436 เพราะประเทศจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นเอกภาพเสียก่อนที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญใดๆ
แรงขับเคลื่อนการปฏิรูปพม่าสูญเสียไปมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อความพยายามที่จะยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์กลับติดขัด และนักเคลื่อนไหวที่วิตกว่า ชาติกำลังถอยหลังในประเด็นสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน กองทัพทหารพม่ายังเผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหตุนักข่าวรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทหารควบคุมตัวในพื้นที่ชายแดนห่างไกลเมื่อเดือนก่อน.