ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หลังก่อสร้างมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี จนถึงปัจจุบัน โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 ในแขวงหลวงพระบาง เสร็จไปแล้วเกือบ 80% และจะเดินเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามกำหนดในปลายปี 2557 เรื่องนี้เปิดเผยในรายงานของคณะกรรมการที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการโครงการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มในปลายปี 2554
โครงการน้ำคาน 2 ลงทุน 100% โดยรัฐบาลลาว เป็นเงินกว่า 350 ล้านดอลลาร์ ในนั้นได้รับการสนับสนุนกว่า 308.5 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลจีนในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดอกเบี้ยอัตรา 2% ต่อปี มีระยะเวลาใช้คืน 20 ปี ก่อสร้างโดยกลุ่มบริษัทซิโนไฮโดร (Sinohydro Corp) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ติดตั้งเครื่องปั่นไฟ จำนวน 2 หน่วยๆ ละ 65 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 558 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี สนองความต้องการกระแสไฟฟ้าทางตอนบนสุดของประเทศ
เขื่อนส่งผลกระทบต่อราษฎร จำนวน 7 หมู่บ้าน ในเขตเมือง (อำเภอ) เซียงเงิน แขวง (จังหวัด) หลวงพระบาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อน และในเขตเมืองพูคูน แขวงเดียวกัน รวมจำนวน 523 ครอบครัว เป็นประชากรทั้งหมด 2.548 คน ทุกครอบครัวได้รับเงินชดเชย โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ มีบ้านเรือนหลังใหม่ มีโรงเรียน สุขศาลา และตลาด รวมทั้งความช่วยเหลือในการสร้างอาชีพที่มั่นคงทางการเกษตรด้วย การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งการฝึกฝนอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบดำเนินไปแล่วกว่า 88% สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
ลักษณะเป็นเขื่อนหินอัดแน่นด้านหน้าฉาบคอนกรีต มีความสูง 136 เมตร ความกว้างของตีนเขื่อน 397.67 เมตร สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ความยาวตลอดตัวเขื่อน 365 เมตร ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 475 เมตร เก็บกักน้ำได้ 750 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำความยาว 54 กม.ตามความยาวของลำน้ำ ที่มีช่วงกว้างสุด 1 กม. โครงการนี้ต้องก่อสร้างถนนเป็นระยะทางราว 36 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปถึงที่ตั้งเขื่อน ที่ผ่านมาว่าจ้างแรงงาน 4,000-5,000 คน ทั้งนี้ เป็นข้อมูลของสำนักข่าวทางการ
เขื่อน้ำคาน 2 จะช่วยสร้างแหล่งเสบียงอาหารสำหรับประชาชนในแขวงภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ปลาแม่น้ำ รวมทั้งช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นประจำเกือบจะทุกปีในแขวงหลวงพระบางด้วย ขปล.กล่าว
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเขื่อนกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพนิเวศของแม่น้ำ และป่าต้นน้ำอย่างไม่มีทางเลี่ยง รายงานจากท้องถิ่นในประชาคมออนไลน์ของชาวลาวก่อนหน้านี้ระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนน้ำคาน 2 และ 3 ได้ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำคานที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางตอนเหนือของเมืองมรดกโลกหลวงพระบางลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด หลายช่วงของลำน้ำแห้งขอดลงในฤดูแล้งที่ผ่านมา.
.