ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งชาติในนครเวียงจันทน์ปีนี้คึกคัก มีนักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (มัธยมปีที่ 7) เข้าสอบกว่า 16,000 คน แต่ที่นี่รับได้เพียง 5,154 คนเท่านั้น และปรากฎว่า ผู้เข้าสอบได้เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ และบริหารฯ มากที่สุด ในขณะที่สถาบันรับได้จำนวนไม่มาก และคณะเกษตรศาสตร์ ได้รับความสนใจน้อยที่สุด
การสอบคัดเลือกเป็นเวลา 2 วัน ระหว่างนัที่ 5-6 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 16,562 คน ในนั้นกว่า 3,700 คน เลือกคณะเศรษฐศษสตร์ และบริหารธุรกิจ ถึงแม้มีโควตาอยู่เพียง 550 คนเศษเท่านั้น อันดับ 2 เป็นคณะนิติศาสตร์แ ละรัฐศาสตร์ มีผู้เลือกกว่า 2,000 คน แต่รับได้เพียง 297 คน สำนักข่าวของทางการรายงานอ้างตัวเลขที่เปิดเผยโดย รศ.ดร.คำผง นามมะวงวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ วิทยาเขตนครเวียงจันทน์ (วิทยาเขตดงโดก)
แนวโน้มดังกล่าวนับว่าสวนทางต่อความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม ที่ต้องการผู้ที่เรียนสำเร็จสาขาเกษตรศาสตร์มากที่สุด เช่นเดียวกับวิศวกรรมศาสตร์ และอาชีวศึกษาแขนงต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทห้างร้านเกี่ยวกับกิจการกสิกรรม อุตสาหกรรม ไฟฟ้า-เครื่องจักรกล ล้วนต้องการแรงงานเหล่านี้จำนวนมากในแต่ละปี สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เปิดสอน 11 คณะ จำนวนกว่า 120 สาขาวิชาเรียน มีหลักสูตรอนุปริญญา 4 หลักสูตร ปริญญาตรี 96 ปริญญาต่อเนื่อง 22 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 40 และปริญญาเอก 3 หลักสูตร ปีการศึกษา 2557-2558 นี้ มหาวิทยาลัยทั้งหมด 4 แห่งทั่วประเทศ คือ “มซ” เวียงจันทน์ ม.สุพานุวง แขวงหลวงพระบาง ม.จำปาสัก และ ม.สะหวันนะเขต จะรับนักศึกษาใหม่รวมกันได้ทั้งหมดเพียง 8,236 คนเท่านั้น เทียบกับนักเรียนที่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายราว 48,000 คน และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังรับนักศึกษาใหม่น้อยลงถึง 1,039 คน
สำหรับมหาวิทยาลัยจำปาสัก การสอบเอนทรานซ์กำลังจะมีขึ้นระหว่าง 12-13 ส.ค.นี้ เพื่อรับนักศึกษา 705 คน ม.สุพานุวง ระหว่าง 19-20 รับ 1,285 คน และ ม.สะหวันนะเขต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ล่าสุด จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 ปีนี้รับนักศึกษาใหม่ได้ 849 คน
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐประสบปัญหาเกี่ยวกับผลิตบัณฑิต ไม่ตรงต่อความต้องการ ของตลาดแรงงานติดต่อกันมาหลายปี และยังขาดแคลนผู้สำเร็จการรศึกษาสายอาชีพเป็นอย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเลือกเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ สะท้อนความคาดหวังของเด็ก และบรรดาผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกมีงานทำในกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ในขณะที่การเลือกเรียนสาขากฎหมายฯ สะท้อนความคาดหวังที่จะได้เข้าทำงานในภาครัฐบาล ขณะเดียวกัน การให้ความสนใจสาขาวิชาการเกษตรน้อยลงนั้น สะท้อนให้เห็นความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ไม่ต้องการให้ลูกๆ ทำงานหนักในผืนนาผืนไร่เช่นคนรุ่นก่อน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นแขนงการลงทุนใหญ่อันดับ 3 ของนักลงทุนต่างชาติในลาว ถัดจากแขนงผลิตพลังงาน กับเหมืองแร่ ซึ่งในแต่ละปีต้องการบุคลากรทางด้านนี้จำนวนมาก.
.