เอเอฟพี - ทางการพม่า และบังกลาเทศ ให้คำมั่นในวันนี้ (12) ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน และต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมาย และอาชญากร หลังเกิดเหตุการณ์ยิงปะทะโต้ตอบที่บริเวณพรมแดน ซึ่งกรุงธาการะบุว่า ทำให้ทหารของฝ่ายตนเสียชีิวิต 1 นาย
สองประเทศระบุว่า จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เหตุร้ายดังเช่นที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ค. ที่เป็นการยิงตอบโต้กันระหว่างกองกำลังรักษาความปลอดภัยของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นซ้ำอีก ตามการระบุในคำแถลงร่วมของสำนักงานตำรวจพม่า และหน่วยงานรักษาชายแดนบังกลาเทศ
เหตุไม่สงบดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการยืนยันของพม่าว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งอ้างว่าเชื่อมโยงกับชาวมุสลิมโรฮิงญา ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่
คำแถลงระบุว่า พม่าให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวขององค์กร Rohingya Solidarity Organisation (RSO) ของชาวโรฮิงญา ภายในดินแดนบังกลาเทศที่เป็นอันตรายต่อความสงบสุขและเสถียรภาพตามพื้นที่พรมแดน
ขณะที่ฝ่ายบังกลาเทศยืนยันว่า จะไม่อดทนอดกลั้นต่อกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมาย หรือนอกศาสนา
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า องค์กร RSO เคลื่อนไหวอยู่ตามพรมแดนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลังกองทัพทหารพม่าเข้าปราบปราม ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนหลบหนีเข้าไปยังฝั่งบังกลาเทศ
แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า RSO นั้น ถูกพิจารณาว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ไม่เคลื่อนไหวแล้ว
“พวกเขาไม่ใช่กลุ่มใหม่” เจ้าหน้าตำรวจอาวุโส กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มว่า RSO เป็นกลุ่มหัวรุนแรง แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมของคนกลุ่มนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าเชื่อว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยถูกสมาชิก RSO โจมตีในช่วงไม่กี่วันก่อนการเสียชีวิตของทหารบังกลาเทศในวันที่ 28 พ.ค. และอีก 2 วันต่อมา เกิดการยิงโต้ตอบขึ้นอีกครั้งบนพรมแดนระหว่างการเจรจาส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศ
พม่าได้ปฏิเสธการกล่าวอ้างของบังกลาเทศที่ระบุว่า ทหารที่เสียชีวิตเป็นสมาชิกอย่างถูกต้องของกองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนบังกลาเทศ และคำแถลงร่วมในวันพฤหัสบดีไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตนี้
ความรุนแรงในชุมชนที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ในเดือน มิ.ย. และ ต.ค. ปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยประมาณ 140,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา
หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากกว่า 86,000 คน ออกจากพื้นที่โดยเรือทางอ่าวเบงกอล รวมทั้งอีกราว 15,000 คน ในระหว่างเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. ของปีนี้
เหตุไม่สงบในพม่าจุดชนวนความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิม ที่แพร่ลามไปทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายสิบคน และเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ.