ASTVผู้จัดการออนไลน์ - แหล่งฝังศพ พล.อ.หวอ เงวียน ย้าป ไม่ได้เลือกกันอย่างรีบร้อน หากมีการเจาะจงเลือกมาล่วงหน้าเป็นเวลานานด้วยความเห็นชอบของทางการคอมมิวนิสต์ วีรบุรุษผู้ล่วงลับเจาะจงบนเนินสูงที่อยู่บนส่วนหน้าของภูเขาทั้งลูกซึ่งมองจากท้องทะเลเห็นเป็นรูปมังกรตัวใหญ่หมอบคลานพร้อมกระโจนเข้าใส่ศัตรู เมื่ออยู่บนนั้นมองลงเบื้องล่างจะเป็นทิวทัศน์สวยงามของหาดทรายหวุงจั่ว (Vung Chua) และเบื้องหน้าไกลออกไปเป็นเกาะ
ศพ พล.อ.ย้าป ฝังอยู่ในส่วนลาดต่ำด้านหน้าของภูเขา คือส่วนที่เป็นเสมือนจมูกของมังกร เพิ่งมองไปยังเบื้องหน้าคือ น่านน้ำทะเลจีนใต้หรือ “ทะเลตะวันออก” ที่ชาวเวียดนามเรียกขาน นี่คือฮวงจุ้ยของหลุมฝังศพที่วีรบุรุษแห่งชาติ ผู้ที่นำชาวเวียดนามทำสงครามใหญ่มา 3 ครั้ง สร้างความพ่ายแพ้แก่กองทัพกระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ผู้รุกราน ได้เลือกเอาไว้ก่อนแล้ว
การได้สถิตบนจุดที่เป็นเสมือนจมูกมังกรทำให้มองเห็นไกลในสิ่งที่มังกรมองเห็นด้วยสายตา และทำให้ พล.อ.ย้าป มีภารกิจใหม่ทางจิตวิญญาณคือ การดูแลและพิทักษ์ปกป้องน่านน้ำ เช่นเดียวกับที่เคยพิทักษ์แผ่นดินปิตุภูมิเมื่อยังมีชีวิตอยู่ สำนักข่าวเกียนถึกออนไลน์ หรือ “ความรู้” รายงานเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนาม
เขตหวุงจั่ว-ด๋าวเอี๋ยน อยู่ในท้องที่ อ.กว๋างจัก (Quang Trach) ทางตอนบนสุดดินแดนที่เป็นชายทะเลของ จ.กว๋างบี่ง (Quang Binh) อยู่คนละทิศละทางกับ อ.เลถวี (Le Thuy) บ้านเกิดของพล.อ.ย้าป ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัด
ขุนพลผู้ปรีชาที่ได้รับฉายาจากโลกตะวันตกว่า “นโปเลียนแดง” ประสงค์ขอกลับไปฝังร่างในถิ่นกำเนิด แทนการฝังที่สุสานวีรชนแห่งชาติในเมืองหลวง
.
.
.
พล.อ.ย้าป นำกองทัพใหญ่ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติมาตลอดชีวิตซึ่งนำมาสู่การรวมประเทศเวียดนามให้เป็นหนึ่งเดียวในที่สุด เป็นอดีตกรมการเมืองอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของประเทศ และเป็นนายพลเอก 4 ดาวคนแรกของกองทัพประชาชนเวียดนาม จึงคู่ควรกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุด
สำนักข่าวออนไลน์ในเวียดนามหลายแห่งรายงานในก่อนหน้านั้นว่า คณะกรรมการจัดรัฐพิธีศพได้เคยพิจารณาอีก 2 แหล่งที่เหมาะสำหรับฝังร่างวีรบุรุษ รวมบริเวณเนินสูงใกล้ถ้ำใหญ่ในเขตป่าสงวนฟงญา-แกบ่าง (Phong Nha- Ke Bang) อ.โบ๋จัก (Bo Trach) ทางตอนกลางของจังหวัด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภทสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโก อีกแห่งหนึ่งบนที่ดินริมแม่น้ำของครอบครัวที่หมู่บ้านอานสา (An Xa) อ.เลถวี ที่ปัจจุบันทางการจังหวัดอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์
ในที่สุดทุกฝ่ายได้เห็นพ้องกันบนเนินเขามังกรแห่งนั้นตามความปรารถนาของ พล.อ.ย้าป ที่นั่นเคยเป็นผืนดินของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งก่อสร้างหอระฆังเอาไว้ และในปัจจุบันได้รับความสนใจจากบรรดานักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ การขึ้นจากหาดทรายหวุงจั่วไปยังบริเวณหอระฆังแห่งนั้นไปได้เพียงทางเดียวคือ เดินเท้า แต่เพียงข้ามวันหลังมรณกรรมของ พล.อ.ย้าป กระทรวงขนส่งเวียดนามกับทางการจังหวัดได้เนรมิตทางเท้าเล็กๆ ให้เป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมปรับสภาพทางชนบทเล็กๆ ให้กลายเป็นถนนสายกว้างลาดยางมะตอยตลอดสายเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรจากทางหลวงแผ่นดิน
ทั้งหมดนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนคณะผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลจากกรุงฮานอยจะเดินทางไปประกอบรัฐพิธีครั้งสุดท้ายฝังร่าง พล.อ.ย้าป บนเนินจมูกมังกร
.
2
นายเจิ่นหง็อกจี๋ (Tran Ngoc Tri) ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเถาะเซิน (Tho Son) คอมมูนกว๋างหยุง (Quang Dung) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กล่าวกับเกียนถึกออนไลน์ว่า ราษฎรในพื้นที่ทราบกันมานานแล้วที่นั่นเตรียมไว้สำหรับฝังร่าง พล.อ.ย้าป ที่ทุกคนเคารพนับถือ และทางการท้องถิ่นได้ดูแลตัดหญ้าทำความสะอาดมาตลอด
เมื่อมองจากทะเลจะเห็นทิวเขาเถาะเซินเป็นรูปมังกรตัวโตที่อยู่ในสภาพหมอบคลานพร้อมกระโจนไปข้างหน้า และเมื่อขึ้นไปยืนบริเวณจมูกของมังกรจะเห็นทัศนียภาพหาดทราย เกาะ และทะเลที่อยู่เบื้องหน้าสวยงามมาก พายุใหญ่ลูกหนึ่งที่พัดเข้าบริเวณนี้เมื่อหลายปีก่อนได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างภายในวัดหายไปทั้งหมด ยกเว้นเพียงหอระฆังที่จะคงอยู่คู่วีรบุรุษแห่งชาติไปตราบนานเท่านาน
นายหวอห่มง์นาม (Vo Hong Nam) บุตรชายคนหนึ่งของ พล.อ.ย้าป เปิดเผยว่า บิดาเป็นผู้เลือกบริเวณภูเขามังกรนี้ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นถิ่นฝังร่าง ครั้งนั้นครอบครัวได้ศึกษารายละเอียดทางกายภาพ ถ่ายภาพไปให้ดู ปีถัดมาบิดาเดินทางไปที่นั่นด้วยตนเอง และได้เซ็นตกลงเพื่อเป็นผู้อุปถัมภ์วัด
นายเลืองหง็อกบี่ง (Luong Ngoc Binh) เลขาธิการพรรคสาขา จ.กว๋างบี่ง กล่าวกับเกียนถึกว่า หวุงจั่ว-ด๋าวเอี๋ยน เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเวียดนามภาคเหนือกับภาคใต้ เป็นจุดที่ 2 ประเทศเมื่อก่อนนี้เชื่อมต่อเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน บริเวณที่ฝังศพวีรบุรุษแห่งชาติจึงมีความหมายล้ำลึกมาก
“หวุงจั่ว-ด๋าวเอี๋ยนเป็นถิ่นที่สวยงาม อิงอยู่กับภูเขามังกร หันหน้าเผชิญทะเลตะวันออก เกาะเอี๋ยน (หรือเกาะนกนางแอ่น- บก.) ที่อยู่ห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร เป็นเสมือนป้อมปราการปกปักรักษาฮวงซุ้ยของท่านและที่นี่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสองเวียดนามเมื่อก่อน” นายบี่งกล่าว.
.
อยู่บนเขาเฝ้าระวังทะเลหลวง REUTERS/AFP/AP
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13