xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเขมรกว่า 4,000 คน รวมตัวประท้วงโรงงานไล่พนักงานออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> แรงงานโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชา ยืนถือป้ายประท้วงด้านหน้าศาลากลางกรุงพนมเปญ วันที่ 5 ก.ย. --AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy. </font></b>

เอเอฟพี - แรงงานโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชากว่า 4,000 คน รวมตัวชุมนุมประท้วงกันในวันนี้ (5) หลังโรงงานที่ผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์ดังระดับโลก เช่น Gap และ H&M ถูกกล่าวหาว่าไล่พนักงานออก เนื่องจากผละงานประท้วงปัญหาสภาพการทำงาน

แกนนำสหภาพแรงงาน ระบุว่า โรงงาน SL Garment Processing ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าของกิจการ ได้ไล่พนักงานออกกว่า 720 คน เมื่อวันพุธ ขณะเดียวกัน มีพนักงานมากกว่า 5,000 คน ถูกสั่งหยุดงาน หลังเข้าร่วมการผละงานประท้วงนาน 2 สัปดาห์

แรงงานได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วงเป็นระยะทางประมาณ 10 กม. จากโรงงานไปยังศาลากลางกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงในข้อพิพาท

“เราต้องการให้โรงงานอนุญาตให้แรงงานกลับเข้าทำงานเช่นเดิม แต่หากพวกเขาต้องการที่จะปิดโรงงาน พวกเขาก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานเหล่านี้ตามกฎหมาย” แกนนำสหภาพแรงงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าว และยังเรียกร้องความช่วยเหลือจากตัวแทนของบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังหลายสิบแห่ง ที่กำลังประชุมกันในสัปดาห์นี้ที่กรุงพนมเปญ เพื่อหารือถึงปัญหาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชา

ด้านนักลงทุนชาวกัมพูชาในโรงงานดังกล่าวยืนยันว่ามีการไล่ออกพนักงานเป็นจำนวนมากจริง

"การผละงานของพวกเขาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" เมียส สุธา กล่าว พร้อมระบุว่า โรงงานไม่มีเจตนาจะข่มขู่พนักงานด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธที่ประจำการอยู่ในพื้นที่

และบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกไล่ออก ขณะที่พนักงานคนอื่นๆ จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าทำงานอีกครั้งในวันจันทร์

ข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าแรง ความปลอดภัย และสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชามักเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นี้มีการจ้างงานแรงงานราว 650,000 คน และเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศแหล่งสำคัญของกัมพูชา ปัจจุบันแรงงานสามารถทำรายได้ประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมทั้งค่าล่วงเวลา

ในเดือน มิ.ย. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กล่าวหาว่า กัมพูชากำลังถอยหลังในความพยายามที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานในภาคส่วนนี้ และล้มเหลวที่จะปรับปรุงในส่วนของความปลอดภัยของแรงงาน ความปลอดภัยด้านอัคคีภัย และการใช้แรงงานเด็ก

ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของแรงงานยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในเดือน พ.ค. หลังเกิดเหตุเพดานโรงงานถล่ม และทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 2 คน ที่โรงงานของชาวไต้หวัน ที่ผลิตรองเท้าให้แก่แบรนด์สินค้าของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้กล่าวว่า การประท้วงอาจเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศ ที่อาจเป็นแรงผลักดันให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตไปที่พม่า ลาว และอินเดีย ที่แรงงานมีราคาถูกกว่า.
<br><FONT color=#000033> แรงงานชาวกัมพูชาหลายพันคนเดินขบวนประท้วงไปตามถนนในกรุงพนมเปญ.--AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy. </font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น