เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ออกปากเตือนว่า แรงงานเสื้อผ้าที่ประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงอาจเป็นแรงผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตย้ายออกจากประเทศได้
คำร้องขอของฮุนเซนมีขึ้น หลังสหภาพแรงงานระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า แรงงานหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากโรงงานที่ผลิตชุดกีฬาให้แก่บริษัทไนกี้ของสหรัฐฯ หลังประท้วงเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรงหลายครั้ง
แรงงานชาวกัมพูชาได้จัดชุมนุมประท้วงหลายครั้งเนื่องจากปัญหาค่าแรงต่ำ และสภาพการทำงานที่เลวร้ายในอุตสาหกรรมสิ่งทอมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์ชั้นนำของตะวันตก ปัจจุบัน แรงงานชาวกัมพูชามีค่าแรงอยู่ราว 110 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมกับค่าล่วงเวลา
นายกฯ ฮุนเซน กล่าวย้ำว่า การชุมนุมประท้วงอาจเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าของประเทศ ที่จะชักจูงให้บริษัทต่างๆ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังพม่า ลาว และอินเดีย ที่มีแรงงานราคาถูกเช่นกัน
“หากนักลงทุนย้ายออกไป นั่นจะเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวงต่อประเทศของเรา” ฮุนเซน กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติ และว่า เป็นเรื่องง่ายสำหรับบริษัทเสื้อผ้า และรองเท้าที่จะหนีออกจากประเทศ พร้อมทั้งย้ำเตือนแรงงานให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าแรงสูง
ผู้นำกัมพูชาระบุว่า เงินราว 480 ล้านดอลลาร์ ถูกจ่ายให้แก่แรงงานทั่วประเทศในแต่ละเดือน
อุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการจ้างงานประมาณ 650,000 คน และผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ชั้นนำของตะวันตก นับเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติแหล่งสำคัญสำหรับประเทศ
เมื่อวันพุธ (19) แรงงานหลายร้อยคนได้กั้นถนนด้านนอกโรงงานในกรุงพนมเปญ ที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่บริษัท H&M ของสวีเดน โดยชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล หลังจากแรงงาน 10 คน ได้รับบาดเจ็บขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่โรงงานใน จ.กำปงสะปือ ที่ผลิตสินค้าให้แก่ไนกี้
แรงงานเสื้อผ้า 16 คน และตัวแทนสหภาพแรงงานถูกตั้งข้อหากระทำการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินระหว่างการประท้วง ผู้พิพากษา จากศาล จ.กำปงสะปือ ระบุ
เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมประท้วง และผู้ประท้วงรายหนึ่งระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องแท้งลูกจากการปราบปรามดังกล่าว และกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเข้าสลายการชุมนุม
ด้านสหภาพแรงงานตอบโต้ข้อคิดเห็นของฮุนเซน โดยระบุว่า ฮุนเซนไม่ทราบถึงความยากลำบากที่บรรดาแรงงานต้องประสบ และโดยทั่วไป เจ้าของโรงงานไม่เคารพกฎหมาย หรือสิทธิของแรงงาน.