เอเอฟพี - ชาติสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันพุธ (14) ได้ให้คำมั่นที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันในการกดดันจีนให้ยอมรับหลักปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าว
การแข่งขันอ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ สร้างความตึงเครียดในภูมิภาค และทางน้ำ ที่เชื่อว่าใต้ผืนน้ำบริเวณดังกล่าวมีแหล่งน้ำมัน และก๊าซขนาดใหญ่ กลายเป็นจุดเปราะบางทางทหารแห่งหนึ่งของเอเชีย
โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ต่างเห็นพ้องที่จะ “พูดเป็นเสียงเดียวกัน” เพื่อหาผลสรุปเบื้องต้นของหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน ที่ อ.หัวหิน จะหารือกับเจ้าหน้าที่ของจีน ที่กรุงปักกิ่ง ช่วงสิ้นเดือนนี้
“อาเซียนจะพูดเป็นเสียงเดียว และเป็นหนึ่งเดียว นี่ไม่ได้หมายความว่าพูดต่อต้านใคร แต่การที่อาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะหารือและพูดคุยกัน” โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าว
หลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ควรมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างอาเซียน และจีน และป้องกันเหตุที่ไม่เป็นผลดีที่จะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ อาเซียนได้พยายามมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ที่จะทำข้อตกลงกับจีนในหลักปฏิบัติที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จากการที่จีนอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำในทะเลเกือบทั้งหมด แม้แต่พื้นที่ส่วนที่ใกล้กับชายฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน
ในที่ประชุมความมั่นคงภูมิภาคเมื่อเดือน มิ.ย. อาเซียนมีความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ หลังจากเมื่อปีก่อน กัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ภักดีของจีน และยังนั่งตำแหน่งประธานอาเซียนในเวลานั้น ได้ปฏิเสธที่จะรับรองการผลักดันของฟิลิปปินส์ต่อจีนในประเด็นปัญหาดังกล่าว แต่ในวันพุธ (14) รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เห็นชอบต่อจุดยืนของอาเซียนในการเป็นหนึ่งเดียวกันเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ
ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ที่เป็นชาติสมาชิกอาเซียน และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำบางส่วนในทะเลจีนใต้
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จีนได้ปฏิเสธที่จะยกระดับปฏิญญาว่าด้วยหลักปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ปี 2545 ให้เป็นหลักปฏิบัติที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และเลือกที่จะเจรจาแก้ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นรายประเทศแทน ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กล่าวหาว่าจีนเพิ่มท่าทีแข็งกร้าวในการใช้อำนาจอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้.