.
เอเอฟพี - ผลการศึกษาระบุวันนี้ (30) ว่า พม่ามีศักยภาพที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็น 4 เท่า ที่ 200,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2030 หากพม่ายังคงมุ่งมั่นปฏิรูป เปิดรับเทคโนโลยี และเปลี่ยนแนวทางออกจากภาคการเกษตร
รายงานของสถาบันแมคคินซี (McKinsey Global Institute) ระบุว่า พม่าที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะย่ำแย่จากการทุจริต และไม่ได้รับการจัดการที่ดีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนานหลายทศวรรษ สามารถสร้างงานได้ถึง 10 ล้านตำแหน่ง และช่วยผู้คนกว่า 18 ล้านคน ให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะผิดหวัง โดยรายงานเตือนว่า ภารกิจของรัฐบาลคือ การเดินหน้าปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในการเผชิญกับความท้าทายทางสังคม
รายงานประเมินว่า GDP ของพม่าขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี ตั้งแต่ปี 1990 ถึงปี 2010 ซึ่งยังล้าหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีศักยภาพที่จะขยายไปที่อัตราเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8 จนกระทั่งปี 2030
พม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียที่กำลังต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงทางศาสนาที่คุกคามการปฏิรูปภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้าแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อ 2 ปีก่อน การปะทะกันระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในสัปดาห์นี้ที่รัฐชาน ทางตะวันออกของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน
นักลงทุนต้องการการรับรองว่า รัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาความรุนแรงระหว่างชุมชน และชาติพันธุ์ และรักษาแรงเหวี่ยงเดินหน้าปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ และคลายข้อจำกัดในการทำธุรกิจ การศึกษาระบุ
แต่พม่ามีจุดแข็งในแง่ของทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ระหว่างจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นความโชคดีที่ได้เริ่มปฏิรูปในช่วงยุคดิจิตอล
พม่าสามารถพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดจากการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และจัดหาการให้บริการทางสาธารณสุข การธนาคารที่ทันสมัย และการให้บริการทางธุรกิจ
อุตสหากรรมการผลิตจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่อาจสร้างงานได้ถึง 10 ล้านตำแหน่ง รายงานการศึกษาของแมคคินซีระบุ และยังกระตุ้นให้โยกย้ายจากการทำการเกษตร ไปเป็นการทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ภาคอุตสาหกรรมการผลิต สามารถเพิ่มรายได้ 70,000 ล้านดอลลาร์ ให้ GDP ภายในปี 2030 (เพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปัจจุบัน) มากกว่าภาคการเกษตร ที่ปัจจุบันสร้างรายได้เพิ่มให้ 21,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
รายงานยังระบุว่า เพียงแค่พม่าลงทุนประมาณ 320,000 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างเครือข่ายการคมนาคมที่ทันสมัย และโรงไฟฟ้า และจัดการอย่างระมัดระวังในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เหมืองแร่และพลังงาน การท่องเที่ยว และภาคโทรคมนาคม ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ความคืบหน้านั้นขึ้นอยู่กับการปฏิรูปของรัฐบาล และการรักษาเสถียรภาพเพื่อดึงดูดการลงทุนในระยะยาว
“หากพม่าล้มเหลวที่จะสร้างแผนกระตุ้นการเติบโต และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เจตนาดีในวันนี้จะสูญหายไปอย่างรวดเร็ว” รายงานระบุ.