.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เรือหลวงนราธิวาส ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธนำวิถีของราชนาวีไทย พร้อมลูกเรือกับทหารเรือใหม่ จำนวนกว่า 120 นาย โดย พล.ร.ต.สมภพ สุวิทยาลังการ รน. (เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 2) เป็นหัวหน้าคณะ ได้เข้าจอดเทียบท่าเรือไซ่ง่อนในวันศุกร์ 17 พ.ค.นี้ เริ่มการเยือนสันถวไมตรีเวียดนามเป็นเวลา 5 วัน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากฝ่ายเจ้าภาพ
ตัวแทนจากหลายหน่วยงานได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับเรือหลวงนราธิวาส กับลูกเรือ ซึ่งรวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ นครโฮจิมินห์ ผู้แทนจากสำนักงานวิเทศสัมพันธ์กองทัพเรือ และจากกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ผู้แทนจากกองบัญชาการทหารเขต 7 กงสุลใหญ่ไทย ประจำนครโฮจิมินห์ ได้เข้าร่วมในพิธีด้วย สำนักข่าวเกียนถึกออนไลน์รายงาน
ระหว่างการเยือนดังกล่าว ผู้แทนจากเรือหลวงของไทยมีกำหนดจะเข้าวางหรีดอนุสรณ์สถานอดีตประธานโฮจิมินห์ เข้าเยี่ยมคำนับ และหารือข้อราชการกับคณะกรรมการประชาชนนคร พบหารือเกี่ยวกับความร่วมมือกับคณะผู้แทนกองบัญชาการทหารเขต 7 คณะผู้แทนจากกองบัญชาการกองทัพเรือภาคใต้ กับกองเรือยุทธการภาค 2 ของฝ่ายเวียดนามด้วย สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเดวียกนามกล่าว
นอกจากนั้น ลูกเรือของเรือหลวงนราธิวาส ยังจะร่วมการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลเชื่อมสัมพันธ์กับนักเรียน และครูอาจารย์โรงเรียนทหารช่างกองทัพเรือเวียดนาม และจะไปเยี่ยมชมสถานที่น่าสนใจหลายแห่งในโฮจิมินห์
“การเยือนของเรือหลวงนราธิวาสไ ด้ร่วมส่วนเข้าในความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างเวียดนามกับไทยโดยรวม และระหว่างกองทัพเรือของสองฝ่ายโดยเฉพาะ” สำนักข่าวแห่งเดียวกันกล่าว
หลายปีมานี้ กองทัพเรือเวียดนาม กับราชนาวีไทยได้มีโครงการความร่วมมือในหลายด้าน รวมทั้งแผนการลาดตระเวนร่วมเพื่อปราบปรามการลักลอบขนของเถื่อน ปราบปรามโจรสลัดในน่านน้ำ ตลอดจนร่วมการค้นหาและกู้ภัย และปกป้องแหล่งทรัพยากรทางทะเลของสองประเทศในเขตอ่าวไทย
เรือหลวงนราธิวาส มีกำหนดออกเดินทางจากนครโฮจิมินห์วันที่ 21 พ.ค. เพื่อกลับสู่ฐานทัพเรือสงขลา สำนักข่าวภาษาเวียดนามกล่าว
ตามข้อมูลของกองทัพเรือ เรือกหลวงนราธิวาส เป็นเรือโอพีวี (Offshore Patrol Vessel) ชุดปัตตานี ติดอาวุธนำวิถี 1 ใน 2 ลำ ของราชนาวี ต่อที่อู่ต่อเรือหูต่ง-จ้งหัว (Hudong-Zhonghua Shipyard) ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจต่อเรือจีน ตามแบบ และตามกำหนดของฝ่ายไทย ติดเครื่องยนต์ ระบบควบคุม ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธทันสมัยของตะวันตกเกือบทั้งหมด
ระบบควบคุมการยิง และระบบเรดาร์เป็นของบริษัทไรน์เมตาล (Rheinmetall) เยอรมนี ระบบเรดาร์โดยบริษัทเรธีออน (Raytheon) สหรัฐฯ ระบบควบคุมการยุทธ์โดยบริษัทแอตลาส อิเล็กทรอนิกส์ (Atlas Elektronik) แห่งเยอรมนี ปืนใหญ่เรือโอโตเมลารา (Oto Melara) อิตาลี ปืน 20/139 มม. ของเดเนลแลนด์แอนด์ซีสเต็มส์ แอฟริกาใต้ ปืนกลขนาด .50 ของบราวนิง สหรัฐฯ และจรวดฮาร์พูนของสหรัฐฯ.
.