xs
xsm
sm
md
lg

โรฮิงญาสูญหายหลายสิบชีวิต หลังเรือพลิกคว่ำขณะหนีไซโคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ชาวประมงเดินอยู่ริมชายหาดชานเมืองซิตตะเว ทางภาคตะวันตกของพม่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. สหประชาชาติรายงานว่า เรือที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยสารเพื่อหลบหนีพายุไซโคลนที่กำลังเคลื่อนเข้าใกล้ฝั่งได้พลิกคว่ำนอกชายฝั่งพม่า มีผู้สูญหาย 58 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังดำเนินการค้นหา ขณะที่บนฝั่ง เจ้าหน้าที่พม่าได้เข้าอพยพผู้พลัดถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ตามค่ายพักชั่วคราวไปอาศัยในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า. --  AFP PHOTO/Soe Than Win. </font></b>

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่กู้ภัยดำเนินการค้นหาชาวมุสลิมโรฮิงญาที่สูญหายไป 58 คน จากเหตุเรือคว่ำนอกชายฝั่งตะวันตกของพม่า ขณะพยายามอพยพหนีพายุไซโคลนที่กำลังเข้าใกล้ทุกขณะ สื่อทางการพม่ารายงาน และอิทธิพลของพายุไซโคลนจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในค่ายพักชั่วคราวหลายพันคน

สถานีโทรทัศน์พม่ารายงานว่า เรือผู้อพยพจมลงทะเลหลังชนกับโขดหินเมื่อคืนวันจันทร์ โดยเป็น 1 ใน 7 ลำ ที่มีชาวโรฮิงญาโดยสารเพื่อหาที่หลบภัยในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าจากค่ายในเมืองปอก์ตอ รัฐยะไข่

“ปฏิบัติการกู้ภัยกำลังดำเนินการเพราะยังมีผู้สูญหายอีก 58 คน” รายงานระบุ

ไซโคลนมาฮาเซนทำให้ต้องอพยพผู้คนจำนวนมากในรัฐยะไข่ ที่มีประชาชนราว 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา อาศัยอยู่ในเพิงพักบอบบางหลังเกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และอิสลามเมื่อปีก่อน

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาพม่าระบุว่า พายุไซโคลนเคลื่อนตัวอยู่ในอ่าวเบงกอล ห่างจากเมืองซิตตะเว ประมาณ 820 กม. ด้วยความเร็วลม 100 กม. ต่อชม. และจะขึ้นฝั่งในวันพฤหัสบดี ใกล้กับพรมแดนพม่า-บังกลาเทศ

หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนนับล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะโดนพายุไซโคลนถล่ม และจากการประเมินล่าสุด มีผู้ไร้ที่อยู่ 69,000 คน ใน 3 พื้นที่ ตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกัน หน่วยงานบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนระบุว่าค่ายในเมืองปอก์ตอ ที่มีผู้อยู่อาศัย 17,000 คน มีความเสี่ยงอย่างมากเนื่องจากค่ายพักอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อาจเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุไซโคลน

ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับพายุที่กำลังจะมาถึงได้แพร่ลามไปทั่วค่ายพัก

“เราต่างสวดภาวนาไม่ให้พายุพัดถล่มค่าย เราทุกข์ทรมานมากพอแล้ว” หม่อง หม่อง ชาวโรฮิงญาที่พักอยู่ในค่ายใกล้เมืองซิตตะเว กล่าวและว่า ทางการให้ข้อมูล และความช่วยเหลือแต่ไม่เพียงพอ

ชาวโรฮิงญาบางส่วนปฏิเสธที่จะย้ายออกจากที่พักเนื่องจากความไม่ไว้วางใจต่อชาวยะไข่ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

“เราไม่ต้องการย้ายไปที่อื่นในสภาพอากาศเช่นนี้” ชาวมุสลิมโรฮิงญารายหนึ่งกล่าว

กองทัพพม่าได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลืออพยพผู้คนที่อยู่ในความเสี่ยง แต่ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติบางคนกล่าวว่า ความพยยามมาช้าเกินไป หลังจากมีการเตือนมาแล้วหลายเดือนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับค่ายพักจากฤดูมรสุมในปีนี้

“หากรัฐบาลล้มเหลวที่จะอพยพผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพราะสาเหตุจากธรรมชาติ แต่เป็นเพราะฝีมือมนุษย์” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอช ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว

การเตือนระวังภัยไซโคลนทำให้นึกถึงเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิสที่สร้างความเสียหายรุนแรงในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีของพม่าในเดือน พ.ค.2551 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 140,000 คน.
กำลังโหลดความคิดเห็น