xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเร่งย้ายผู้ลี้ภัยขณะไซโคลนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ทางการพม่าเร่งย้ายผู้พลัดถิ่นภายในที่อาศัยอยู่ในค่ายพักแรมชั่วคราว ไปยังค่ายพักที่แข็งแรงกว่าในรัฐยะไข่ หลังไซโคลนในอ่าวเบงกอลกำลังทวีความรุนแรง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังภัยพายุไซโคลนที่อาจพัดขึ้นฝั่งบริเวณพรมแดนพม่า-บังกลาเทศในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้. --AFP PHOTO/Soe Than WIN.</font></b>

เอเอฟพี - ทางการพม่าเริ่มเคลื่อนย้ายผู้คนในวันนี้ (12) ไปยังที่หลบภัยฉุกเฉิน ขณะที่พายุไซโคลนในอ่าวเบงกอลคาดว่าจะเข้าพัดถล่มรัฐที่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างศาสนา และเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยภายในประเทศหลายหมื่นคน

ผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs) ราว 140,000 คน อาศัยอยู่ในเต็นท์บอบบาง หรือที่อยู่ชั่วคราวที่มองว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อการเผชิญกับ “ไซโคลนมาฮาเซน” ที่กำลังทวีความรุนแรงอยู่ในอ่าวเบงกอล

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาพม่าระบุคาดว่า ไซโคลนจะขึ้นฝั่งในพื้นที่บางแห่งใกล้กับพรมแดนพม่า-บังกลาเทศ ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (16) และว่าพายุมาฮาเซนที่มีความเร็วลมประมาณ 100 กม. ต่อชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเป็นพายุหมุนเขตร้อนไซโคลน ภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า พร้อมแจ้งเตือนให้เรือต่างๆ อยู่ในสถานะระวังภัย

ผู้พลัดถิ่นภายในที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ไร้ที่อยู่จากเหตุความรุนแรงทางศาสนาซึ่งปะทุขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ปีก่อน

“ยังมีประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราว ในตอนนี้เรากำลังย้ายผู้พลัดถิ่นไปยังที่พักถาวรที่แข็งแรงกว่าเดิมให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้” เมียว ธันต์ โฆษกรัฐบาลรัฐยะไข่ กล่าวและว่า ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับศักยภาพของที่พักที่ตั้งอยู่ในเมืองซิตตะเว และที่พักมีไม่เพียงพอสำหรับผู้ไร้ที่อยู่เหล่านี้ทั้งหมด

“คนที่เหลือจะถูกส่งไปอาศัยกับญาติในหมู่บ้านอื่นๆ และตามอาคารเรียนที่อยู่ใกล้เคียง” นายเมียว ธันต์ กล่าว

วิทยุท้องถิ่นออกคำเตือนพายุไซโคลนที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ ในขณะที่ลำโพงขยายเสียงส่งข้อความไปยังผู้คนในหมู่บ้านต่างๆ ในรัฐยะไข่ ที่เป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจน และห่างไกลที่สุดของพม่า

การแจ้งเตือนครั้งนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิสที่สร้างควาามเสียหายให้แก่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีของพม่าเมื่อเดือน พ.ค.2551 และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไปราว 140,000 คน

หน่วยงานประเมินภัยพิบัติของสหประชาชาติระบุว่า กำลังเตรียมการจัดหาที่พักให้แก่ผู้ไร้ที่อยู่ได้สูงสุดที่ 13,000 คน ในเมืองซิตตะเว และแสดงความกังวลถึงผู้พลัดถิ่นภายในที่อาศัยอยู่ในค่ายพักที่ก่อสร้างไม่ดี และระบุว่า ค่ายพักหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวชายฝั่งซึ่งเสี่ยงเผชิญกับคลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น