xs
xsm
sm
md
lg

ภาพชุด - ปีนี้ชาวพม่าเล่นสงกรานต์อย่างสงบสุขอีกปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR ><FONT color=#000033>หนุ่มๆ สาวๆ และเด็กๆ ได้สนุกสนานกันอีกครั้งหนึ่งวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมาในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเริ่มเทศกาลติงกาน (Thingyan) อย่างเป็นทางการ นี่คือเทศกาลแห่งเดือนทะกู (Tagu) เดือนแรกของปี ถึงแม้ว่าในพม่าจะมีเทศกาลให้ฉลองกันทุกเดือน แต่ สงกรานต์ เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดในรอบปี เชื่อกันว่าปีนี้ทุกคนจะได้เล่นสาดน้ำอย่างสงบและสันติอีกปี เป็นปีที่สามติดกันโดยไม่มีเหตุรุนแรง. --  AFP Photo/Ye Aung Thu.</b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชาวพม่าเริ่มฉลองเทศกาลติงกาน (Thingyan) ในวันเสาร์ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ในท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากผู้นำสูงสุดที่ขอให้ทุกชนเผ่าในประเทศรักษาความเป็นเอกภาพ และเชื่อกันว่าปีนี้จะเป็นการฉลองสงกรานต์ที่สงบเรียบร้อยอีกปี

ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างปราศรัยอวยพร เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ประเพณีของชาวพม่า หลังเกิดความรุนแรงหลายระลอกระว่างชาวพุทธกับชาวอิสลามช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 43 คน สุเหร่าถูกเผาหลายแห่ง ทำลายหรือได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับบ้านเรือนราษฎรซึ่งทำให้คนไร้ที่อาศัยนับหมื่นๆ

“สังคมของเราได้ผ่านฝ่าความยากลำบาก กับความท้าทายมานานัปการซึ่งทำให้เราสามารถก่อเกิดเป็นประชาคมหนึ่งขึ้นมาประกอบด้วยหลากหลายเชื้อชาติ และศาสนาที่อยู่ร่วมกันมาอย่างกลมกลืน ในขณะที่พวกเรายังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เอาไว้” ประธานาธิบดีกล่าวผ่านทางวิทยุ และโทรทัศน์วันอาทิตย์ 14 เม.ย.นี้

ผู้นำพม่ากล่าวด้วยว่า ความพยายามปฏิรูปเพื่อผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ได้พบกับ “จุดดำ” ต่างๆ เช่น “การไร้เอกภาพ ความขัดแย้ง และการขาดเสถียรภาพ” ทั้งเรียกร้องให้ประชาชนชาวพม่าทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ด้วยความอดทน อดกลั้น และมั่นคงแน่วแน่”

การปราศรัยของผู้นำสูงสุดมีขึ้นเพียงข้ามวัน หลังจากศาลได้ตัดสินลงโทษเจ้าของร้านทองแห่งหนึ่งในเมืองเม็กทิลาเป็นเวลา 14 ปี ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจลาจลในเมืองภาคกลางของประเทศเมื่อวันที่ 30 มี.ค.

เจ้าของร้านทองดังกล่าว ซึ่งเป็นชาวมุสลิมถูกกล่าวหาว่า ลงไม้ลงมือกับลูกค้าชาวพุทธหลังเกิดการโต้เถียงเกี่ยวกับทอง เป็นเหตุให้ลามไปเป็นความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่นับถือต่างศาสนา ยังมีผู้ถูกตัดสินลงโทษอีก 2 คน

ทางการเชื่อว่า การจลาจลที่แผ่ลามออกไปในวันหลังๆ นั้น เกิดจาก “พระสงฆ์หัวรุนแรง” กลุ่มหนึ่ง ที่ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า มีการจัดตั้งเป็นอย่างดี ในขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รักษาคามปลอดภัยของทางการนิ่งดูดาย ปล่อยให้สถานการณ์บานปลายออกไปต่อหน้าต่อตา

เหตุรุนแรงสงบลงตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน กับกฎอัยการศึกในเม็กทิลา แต่การใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนสองศาสนา ก็ยังมีติดตามมาประปรายในเมืองอื่นๆ ที่ใกล้กรุงย่างกุ้งเข้าไป กับในเขตพะโคที่อยู่ติดกัน

ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวอิสลามเมื่อปีที่แล้วในรัฐระไค (Rakhine) หรือ “ยะไข่” หรือ “อาระกัน” เมื่อก่อนนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ไม่ได้รับการรับรองเป็นพลเมืองพม่า หรือพลเมืองของประเทศใด

แม้ว่าในพม่าจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ อยู่ทุกเดือน และในบางรัฐ หรือบางเขตมีเดือนละหลายเทศกาลก็ตาม แต่ “สงกรานต์” ก็ยังเป็นเทศกาลยอดนิยมที่ผู้คนคาดหวังมากที่สุด ชาวพม่าทุกหมู่เหล่าต่างเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ

ตามรายงานของสื่อออนไลน์ ปีนี้ก็เช่นเดียวกับทุกปี ครอบครัวชาวพม่าในกรุงย่างกุ้งเข้าวัดทำบุญ และฟังพระธรรมเทศนา ในขณะที่หนุ่มสาวเยาวชนเริ่มเล่นสาดน้ำตามถนนหนทาง และตามเวทีสาธารณะที่ทางการจัดเอาไว้ให้อย่างเป็นระบบระเบียบ

วัดหลายแห่งจัดให้มีการแสดงมหรสพ การละเล่นทางวัฒนธรรมต่างๆ และยังไม่มีรายงานเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ในวันอาทิตย์นี้

การฉลองเทศกาลสงกรานต์หลายปีก่อน ต้องเจอกับการก่อความรุนแรงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม ติงกานปี 2553 ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อเกิดเหตุระเบิดในหลายย่านของกรุงเก่าย่างกุ้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิด 10 คน อีก 170 บาดเจ็บ ทางการกล่าวโทษเป็นฝีมือของกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงพลัดถิ่น

เทศกาลสงกรานต์ผ่านมาด้วยความเรียบร้อยในปี 2554 กับปี 2555 เมื่อพม่ามีรัฐบาล “กึ่งพลเรือน” ขึ้นบริหารประเทศ และกำลังปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วเพื่อนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ และเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมโลก.

ฉลุยๆ กันอีกปี Reuters/AFP

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13
กำลังโหลดความคิดเห็น