.
ย่างกุ้ง (เอเอฟพี) 15 ม.ค. - สหรัฐฯ กล่าวในวันอังคาร แสดงความหวังว่าจะเริ่มการค้นหาในพม่าอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้ เพื่อหาศพทหารอเมริกันที่สูญหายตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในท่ามกลางความสัมพันธ์ทางการเมือง และการทหารที่พัฒนาดีขึ้น คณะจากสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางเข้าพม่าเร็วๆ นี้ เพื่อเตรียมการสำหรับภารกิจที่คาดเอาไว้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อน เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมผู้หนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี
“ทีมจะเข้าค้นหาในหลายแหล่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ค่อนข้างจะให้ความหวัง เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารอันจำเป็นสำหรับการขุดค้นในอนาคต” พ.ต.แครี พาร์คเกอร์ (Carie Parker) โฆษกหญิงของสำนักงานเพื่อเชลยศึกกับบุคลากรที่สูญหายกล่าว
ตามตัวเลขของกระทรงวงกลาโหมสหรัฐฯ มีทหารอเมริกันราว 730 คน ที่คาดว่าสูญหายไปในพม่า ระหว่างร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่น
การเข้าไปค้นหาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 นับเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งในปฏิสัมพันธ์อันน่าทึ่งระหว่างสหรัฐฯ กับพม่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์ และได้เริ่มเข้าสู่การปฏิรูป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการหลุดพ้นจากช่วงหลายทศวรรษที่ถูกปกครองโดยระบอบทหาร
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ประกาศแผนการเริ่มการค้นหาศพทหารครั้งใหม่ ระหว่างไปเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ในปลายปี 2554 ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างสำคัญ
รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้าบริหารประเทศในปี 2554 ได้สร้างความแปลกใจให้ประชาคมระหว่างประเทศ โดยทำการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งปลดปล่อยนักโทษการเมืองและให้นางอองซานซูจี แชมเปียนแห่งประชาธิปไตยเข้าร่วมการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภา
สหรัฐฯ ให้รางวัลสำหรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โดยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรสำคัญๆ แต่ตั้งเอกอัครราชทูตกลับไปประจำ จนถึงการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเดือน พ.ย.
รัฐบาลโอบามาที่กำลังเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์เข้าสู่เอเชีย-แปซิฟิก ในการต่อกรกับบทบาทของจีน มีความประสงค์ที่จะขยายอิทธิพลเข้าสู่ประเทศที่การครอบงำของปักกิ่งเกือบจะไม่เคยถูกท้าทายมาก่อน
เจ้าหน้าที่กล่าวในเดือน ต.ค.ว่าสหรัฐฯ เต็มใจที่จะให้พม่าเข้าสังเกตการณ์การซ้อมรบร่วมในประเทศไทยในปี 2556 นี้ อันเป็นเหตุการณ์ระหว่างทีมทหารของสหรัฐฯ และทีมจากประเทศพันธมิตรอาเซียน
เพนตากอนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กำลังจะดำเนินการขั้นเริ่มต้น เพื่อเปิดสายสัมพันธ์ทางการทหารกับพม่า ซึ่งอาจเน้นไปที่การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการส่งเสริมการปฏิรูปการเมือง.
.