เอเอฟพี - ทางการเวียดนามเข้าสลายการชุมนุมประท้วงต่อต้านจีนใน 2 เมืองใหญ่ของประเทศ และควบคุมตัวผู้ชุมนุมอีกประมาณ 20 คน ในวันนี้ (9 ธ.ค.) ในการประท้วงครั้งล่าสุดต่อต้านจีน ขณะที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เพิ่มสูง
ผู้ชุมนุมประท้วงประมาณ 200 คน บ้างโบกป้ายประท้วง บ้างส่งเสียงร้องตะโกน ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าสลายการชุมนุมเมื่อผู้ประท้วงพยายามที่จะมุ่งหน้าเข้าใกล้สถานทูตจีนในกรุงฮานอย
นักเคลื่อนไหวหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ถูกควบคุมตัวขึ้นรถบัสหลังจากชุมนุมประท้วงนานครึ่งชั่วโมง ที่นับเป็นการประท้วงครั้งที่ 5 ที่แสดงถึงความไม่พอใจของประชาชนในกรุงฮานอยต่อการรุกรานทางทะเลของปักกิ่ง โดยผู้ชุมนุมประท้วงถูกควบคุมตัวไปยังศูนย์กักบริเวณล็อกฮาที่อยู่ชานกรุงฮานอย
นอกจากในกรุงฮานอย กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เข้าสลายการชุมนุมประท้วงต่อต้านจีนในลักษณะเดียวกันนี้ในนครโฮจิมินห์ ที่มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลายร้อยคน ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากฮานอย และปักกิ่งโตแย้งกันไปมาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิอธิปไตยน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทขัดแย้ง
ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นเส้นทางเดินเรือการค้าสำคัญ และเชื่อว่าอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
เวียดนามที่เริ่มสำรวจแหล่งน้ำมันในพื้นที่ที่เวียดนามอ้างกรรมสิทธิ์ ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน กล่าวหาปักกิ่งว่าเรือประมงของจีนได้ลอบทำลายเรือของบริษัทปิโตรเวียดนาม ขณะเดียวกัน ฝ่ายจีนได้ตอบโต้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเรียกร้องให้เวียดนามยุติการสำรวจแหล่งน้ำมัน และหยุดการรุกรานเรือจีน
ท่าทีแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในเวียดนาม และทำให้เกิดการประท้วงขึ้นซึ่งมักไม่ปรากฏในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ
การชุมนุมประท้วงในปี 2554 ครั้งนั้นรัฐบาลปล่อยให้มีการชุมนุม แต่ในการประท้วงครั้งต่อๆ มา ทางการได้เข้าสลายการชุมนุม และมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้หารือกัน และการประท้วงครั้งแรกในปีนี้ ทางการก็อนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่ต่อมาในเดือน ส.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนามได้เข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุม 25 คน ที่ประท้วงต่อต้านจีน และถูกนำตัวไปควบคุมที่ศูนย์บำบัดฟื้นฟู ที่มักใช้ควบคุมผู้ค้าประเวณี และผู้ติดยาเสพติด
เวียดนาม และจีนมีข้อพิพาทดินแดนมาเป็นเวลายาวนานเกี่ยวกับหมู่เกาะพาราเซล และสแปร็ตลีย์ ที่ทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ โดยปักกิ่งระบุว่า จีนมีสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังมีประเทศเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ต่างอ้างสิทธิในพื้นที่ทั้งหมด หรือบางส่วนในทะเลจีนใต้แห่งนี้เช่นกัน.