เอเอฟพี - ทีมงานชาวอังกฤษที่เตรียมเข้าขุดหาฝูงเครื่องบินสปิตไฟร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพม่า กล่าววานนี้ (28 พ.ย.) ว่า หากพวกเขาค้นพบฝูงเครื่องบินดังกล่าว การค้นพบนี้จะเป็นการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในด้านโบราณคดีการบิน
ทีมขุดค้นเชื่อว่า มีเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียวของอังกฤษประมาณ 36 ลำ ฝังอยู่ในกล่องปิดผนึกที่อยู่ลึกประมาณ 10 เมตร ใต้สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ที่เคยใช้เป็นสนามบินสมัยสงคราม และยังมีอีกหลายลำในอีก 2 พื้นที่ในพม่า
อังกฤษที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของพม่าคาดว่า ได้ฝังเครื่องบินใหม่เอี่ยมที่ส่งมาทางทะเล ในปี 2488 และการขุดค้นที่มีกำหนดเริ่มขึ้นในต้นเดือน ม.ค. จะสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ที่หลงใหลประวัติศาตร์ทางทหาร และการบินทั่วโลก ในปัจจุบันคาดว่ามีเครื่องบินสปิตไฟร์เหลืออยู่ในโลกน้อยกว่า 50 ลำ และการขุดค้นครั้งนี้อาจทำให้จำนวนสปิตไฟร์เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า หากเครื่องบินเหล่านั้นยังคงสภาพเดิม
“ผู้เห็นเหตุการณ์พูดคุยกันว่า มีเครื่องบิน 36 ลำ ถูกฝังอยู่ในจุดนี้ แต่เรามีหลักฐานว่าอาจมีมากกว่านั้น” นายเดวิด คันดอลล์ หัวหน้าโครงการกล่าวสรุปที่พิพิธภัณฑ์สงครามจักรวรรดิ ในกรุงลอนดอน
“พวกมันถูกฝังอยู่ลึกราว 8-10 เมตร ใต้นั้นไม่มีออกซิเจน เราคิดว่าพวกมันไม่ถูกกัดกร่อน แต่ก็เหมือนเวลาที่เราเปิดกระป๋องถั่วที่มีอายุ 67 ปี มันอาจไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากคุณหิว คุณก็จะกินมันอยู่ดี” คันดอลล์กล่าว
ผู้นำคณะสำรวจยอมรับว่า โครงการทั้งหมดอาจกลายเป็นการค้นหาสิ่งที่ไม่มีตัวตน เพราะไม่มีหลักฐานทางกายภาพที่ระบุว่าเครื่องบินสปิตไฟร์ มาร์ค 14 นั้นมีอยู่
คันดอลล์ เกษตรกร และผู้หลงใหลการบิน ได้ตามล่าค้นหาเครื่องบินสปิตไฟร์ที่สาบสูญมาเป็นเวลานาน 16 ปีแล้ว โดยเรื่องราวของสปิตไฟร์ในพม่านี้ เขาได้ยินครั้งแรกจากผู้ค้นหาเครื่องบินอีกคนหนึ่ง และจากพยานที่เห็นเหตุการณ์ 8 คน ที่รวมทั้ง นายทหารสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ขุดหลุม และชาวพม่าท้องถิ่นที่เป็นผู้เปลี่ยนไม้สักมาปิดผนึกลัง
“พวกเขาต่างชี้ไปที่จุดจุดเดียว และรูปร่างของหลุมแบบเดียวกัน” คันดอลล์กล่าว
ในการสำรวจเบื้องต้น เป็นการระบุหลุมที่ถูกขุดฝังลัง และรูปร่างที่อาจเป็นเครื่องบิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีบางสิ่งที่เป็นโลหะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และสิ่งที่อยู่ใต้พื้นผิวไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ
“เราจำเป็นต้องขุด และดูว่ามีอะไรอยู่ข้างล่างนั่น” คันดอลล์กล่าว
สำหรับส่วนแบ่งการพบเครื่องบินนั้น ตามข้อตกลงที่ลงนามกันไว้ คันดอลล์จะได้รับส่วนแบ่ง 30% ตัวแทนของคันดอลล์ 20% ขณะที่รัฐบาลพม่าจะได้รับ 50% เครื่องบินทุกลำของคันดอลล์จะกลับไปยังอังกฤษ และคาดว่าจะได้รับการฟื้นฟูคืนสภาพภายใน 3 ปี และนำออกขาย
แอนดี้ บร็อคแมน นักโบราณคดีกล่าวว่า การขุดค้นครั้งนี้อาจเป็นหนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโบราณคดีการบิน ขณะเดียวกัน ยังช่วยเติมภาพเกี่ยวกับสงครามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพันธสัญญาของอังกฤษที่ได้ทำไว้.