xs
xsm
sm
md
lg

ล้ำหน้าสตาร์วอร์ RQ-4 “โกลบอลฮอว์ค” เติมน้ำมันกันเองเจ๋งสุดๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จการทดลองซึ่งเป็นเรื่องที่คิดฝันกันมานาน นั่นก็คือการให้ “หุ่นบิน” (Flying Drone) หรือยานไร้คนบังคับ (Unmanned Aerial Vehicle) เติมเชื้อเพลิงให้กันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนช่วยเหลือ และเมื่อขบวนการนี้เสร็จสมบูรณ์ความฝันที่จะมี “ถังน้ำมันลอยฟ้า” ก็จะเป็นจริง และจะช่วยเปลี่ยนรูปโฉมของสงครามในอนาคต

เมื่อสัก 10 ปีก่อน เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ก็ในภาพยนตร์แห่งอนาคต เช่น สตาร์วอร์ เท่านั้น แต่สหรัฐฯ กำลังก้าวไปถึงยุคนั้นก่อนใครๆ

เคยปรากฏ เป็นข่าวอื้อฉาวในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ ยาน RQ-4 Global Hawk “เหยี่ยวโลกา” ปฏิบัติการบินสอดแนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกมานานแล้วโดยคนที่อยู่เบื้องล่างไม่เคยรู้เนื้อรู้ตัว แต่อีกไม่นาน “โกลบอลฮอว์ค” ก็จะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของทุกๆ คน เพราะยาน UAV หลายชนิดกำลังจะกลับมาพร้อมกองกำลังของสหรัฐฯ เช่นเดียวกันอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยต่างๆ

โกบอลฮอว์คบินปฏิบัติการได้เป็นระยะทางไกลถึง 16,000 กม. การมี “ถังน้ำมันลอยฟ้า” จะช่วยให้ปฏิบัติการได้ไกลขึ้นอีกเท่าตัว หรือไกลเท่าที่ต้องการ ยานชนิดอื่นๆ ที่ประจำการในขณะนี้ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากความสำเร็จครั้งนี้ รวมทั้ง MQ-1 Predator หรือ MQ-9 Reaper ด้วย

หน่วยงานโครงการวิจัยกลาโหมก้าวหน้า (Defense Advanced Research Projects Agency) ได้ทดลองนำ RQ-4 โกลบอลฮอว์คที่ดัดแปลงใหม่ 2 ลำขึ้นบินเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และตั้งโปรแกรมให้ลำหนึ่งปฏิบัติการเลียนแบบเติมน้ำมันกลางอากาศกับอีกลำหนึ่งเลียนแบบการ “รับ” น้ำมันกลางอากาศ ซึ่งมันทำได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการเติมเชื้อเพลิงจริงๆ ก็ตาม

จิม แม็คคอร์มิค (Jim McCormick) ผู้จัดการโครงการของ DARPA กล่าวว่า เป้าหมายของการทดลองครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความคาดหวังว่า ยานบินบนความสูงระยะไกลไร้คนบังคับ (High Altitude Long Endurance) จะเติมชื้อเพลิงกลางอากาศให้กันเองได้

ยานโกลบอลฮอว์คทั้งสองลำปฏิบัติการโดยไม่มีคนข้างล่างบังคับ หรือคอยช่วยเหลือ ทั้งสองลำบินบนความสูง 44,800 ฟุต (13.4 กม.เศษ) และสามารถคงรูปขบวนได้อย่างแม่นยำ แม้จะต้องเจอลมต้านด้วยความเร็ว 23 ไมล์ต่อชั่วโมง (กว่า 37 กม./ชม.) ก็ตาม นายแม็คคอร์มิคกล่าว

เมื่อ DARPA เริ่มโครงการนี้ใหม่ๆ คาดว่าความพยายามเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศของหุ่นยนต์บินพวกนี้ มีโอกาสจะประสบความสำเร็จเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น แต่ RQ-4 ทั้งสองลำนี้ทำได้ดีเกินคาด คือทำได้สำเร็จ 3 ครั้ง จากทั้งหมด 5 ครั้ง

การทดลองที่ยุติลงในวันที่ 30 ก.ย.2555 เปิดศักราชใหม่ให้กองทัพสหรัฐ นำไปสู่ปฏิบัติการจริงได้ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่งในสัปดาห์นี้

โกลบอลฮอว์คเป็นยานบินไร้คนบังคับขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่มีใช้ในปัจจุบัน สร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจบินลาดตระเวนตรวจการณ์ และถ่ายภาพทางอากาศ แม้จะสามารถติดอาวุธได้ก็ตาม

ปฏิบัติการในอัฟกานิสถานช่วงไม่กี่ปีมานี้ โกลบอลฮอว์คทำหน้าที่หาข้อมูล และกำหนดเป้าให้แก่เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์บี-2บี ทำให้เป้าหมายที่ตั้งของกลุ่มอัลกออิดะ กับกลุ่มตอลิบานถูกทำลายนับครั้งไม่ถ้วน และโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

สหรัฐฯ ประกาศแผนการกลับคืนสู่เอเชียแปซิฟิกเมื่อปีที่แล้ว โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2556 ซึ่งกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ราว 60% จะเคลื่อนเข้าประจำในภูมิภาคนี้.
.



"โกลบอลฮอว์ค NASA Youtube.Com

กำลังโหลดความคิดเห็น