.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พายุโซนร้อนแกมิ (Gaemi) ยังแรงคงเส้นคงวา และยังมุ่งหน้าทิศตะวันตกไม่เปลี่ยนแปลง ภาพอินฟราเรดจากดาวเทียม MTSAT ในเวลา 16.30 น. วันพุธ 3 ต.ค.ได้เปิดเผยให้เห็นพายุลูกใหญ่กำลังหมุนคว้างในทะเลจีนใต้ ฟาดหางไอน้ำของมันให้เห็นเป็นทางยาว
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย ได้ออกแผนภูมิพยากรณ์ฉบับใหม่ เวลา 21.30 น. แสดงให้เห็นพายุขนาดใหญ่ลูกหนึ่งที่กำลังพัดเข้าฝั่ง และกำลังจะกลายเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 อีก 72 ชั่วโมงข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ JTWC ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ออกแผนภูมิพยากรณ์ในบ่ายวันเดียวกันมองไกลออกไป แสดงให้เห็นพายุลูกเดียวกันพัดทะลุทะลวงถึงที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยในวันอาทิตย์ 7 ต.ค.2555 เร็วขึ้นอีกราว 24 ชั่วโมง จากที่เคยพยากรณ์ในเช้าวันเดียวกัน
แผนภูมิพยากรณ์ที่ออกโดยสำนักงานเตือนภัยความเสี่ยงจากพายุในเขตร้อน (Tropical Storm Risk) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนบ่ายวันเดียวกัน ได้แสดงเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุแกมิในทิศทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พายุลูกนี้จะทวีความเร็วใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็น “พายุโซนร้อนรุนแรง” (Severe Tropical Storm) ตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี 4 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ขณะอยู่ในทะเลจีนใต้
พายุใหญ่แกมิจะกลายเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ตั้งแต่วันศุกร์ 5 ต.ค. เมื่อใกล้จะขึ้นฝั่งในภาคกลาง ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางที่คาดว่าจะสูงเกินกว่า 125 กม./ชม.
ไต้ฝุ่นแกมิจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนอีกครั้งหนึ่ง ขณะพัดจากดินแดนลาวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไปจนถึงที่ราบใหญ่ภาคกลางระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.นครสวรรค์ และจะอ่อนกำลังลงอีกที่นั่นเป็นดีเปรสชัน ทำให้เกิดฝนตกหนักครอบคลุมอาณาบริเวณกว้าง
แม้ว่าไต้ฝุ่นระดับ 1 จะไม่สามารถทำลายอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างถาวรได้ แต่ด้วยลมแรงระหว่าง 119-153 กม./ชม. มันสามารถโค่นต้นไม้ขนาดใหญ่ลงได้ เช่นเดียวกับบ้านเรือนทั่วไปที่ก่อสร้างไม่มั่นคงแน่นหนา รวมทั้งท่าเทียบเรือทั่วไปด้วย
.
2
3
4
5
แต่สิ่งที่เวียดนามหวั่นเกรงมากที่สุดนั้นไม่ใช่ระดับของไต้ฝุ่น แต่หากเป็นความแรงของลมที่พัดเพิ่มทวี ที่เรียกกันว่า Storm Surge ขณะไต้ฝุ่นเข้าใกล้ชายฝั่ง ซึ่งมักจะหอบเอาน้ำทะเลปริมาณมหาศาลขึ้นฝั่งด้วย และอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่หมู่บ้านชาวประมง รวมทั้งอ่าวจอดเรือที่อยู่ด่านแรก
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้คือ กรณีเฮอริเคนคาทรินา (Katrina) ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2548 ซึ่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาประกาศให้เป็นเฮอริเคน (ไต้ฝุ่น) ระดับ 2 แต่แรงลมทวีของมันมีความรุนแรงเทียบได้กับเฮอริเคนระดับ 5 หรือ “ซูเปอร์เฮอริเคน” ซึ่งทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เมืองเล็กๆ หลายเมืองในเขตที่ราบลุ่มมิสซิสซิปปี พังทลายราบคาบ
เวียดนามหวั่นว่า พายุแกมิอาจจะทวีความรุนแรงในลักษณะเดียวกันนี้ในช่วง 2-3 วันข้างหน้า
เมื่อเวลา 19.00 น.วันพุธ 3 ต.ค. พายุลูกใหญ่ได้ไต่ระดับขึ้นเป็น “พายุโซนร้อนรุนแรง” อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 89-102 กม./ชม. ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ เวียดนามพยากรณ์ว่า พายุแกมิจะเคลื่อนตัวลงใต้เล็กน้อย ก่อนจะเชิดหัวมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกเช่นเดิม และเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 5-10 กม./ชม. แต่มีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นอีกในระยะ 24 ชั่วโมงข้างหน้า
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ แห่งนี้กล่าวว่า ในระยะ 2-3 วันถัดไป พายุยังจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือ และด้วยความเร็วระหว่าง 15-20 กม./ชม. มีโอกาสที่จะทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่น.