.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปีนี้ธรรมชาติลำเอียงหนัก อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเจอทั้งอุทกภัย และภัยแล้งแตกต่างกัน-ตามสภาพของแต่ละพื้นที่ ในขณะที่ภาคกลางพม่าจมน้ำมานานแรมเดือน ทั่วประเทศกัมพูชาก็ประสบกับความแห้งแล้งมานานข้ามเดือนเช่นกัน สร้างความเสียหายให้แก่พืชผลการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าวได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ในพม่า เขตที่ราบใหญ่ปากแม่น้ำอิรวดี กับที่ราบพะโค ซึ่งได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่ ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันยาวนาน ทำให้นาข้าวนับล้านไร่ถูกน้ำท่วม ราษฎรในหลายท้องถิ่นที่เคยตกเป็นเหยื่อของไซโคลนนาร์กิส (Nargis) เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอีกครั้งหนึ่ง
ข้าวนาหว่านหลายแสนเฮกตาร์ (นับล้านไร่) ในฤดูนาปีจะต้องลงมือเพาะปลูกกันใหม่ในพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดลง และทางการกำลังระดมพันธุ์ข้าวกับความช่วยเหลืออื่นๆ ไปยังที่ประสบภัยแล้ว
มรสุมชุดเดียวกันนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมในแขวงภาคเหนือของลาว ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.เป็นต้นมา ทางการยังคงระดมส่งความช่วยเหลือไปเยี่ยวยาผู้ประสบภัยในเขตเมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง บางท้องที่ในแขวงไซยะบูลี อุดมไซ และบางท้องที่ของแขวงเซียงขวาง สื่อของทางการรายงาน
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีที่ได้เปิดประชุมประจำเดือน ส.ค.สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐเร่งส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย กับอีกส่วนหนึ่งที่กำลังประสบภัยแล้งในหลายแขวง หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่รายงานโดยไม่ได้ให้รายละเอียด
ในเดือนนี้เช่นกัน ทางการเมืองหลวงได้เร่งขุดลอกคูคลองระบายน้ำ และเร่งการก่อสร้างคลองระบายน้ำท่วมจากเขตชานเมืองไปลงยังไม่น้ำโขง หลังจากระดับน้ำในลำน้ำสายต่างๆ เริ่มเอ่อสูงขึ้น สื่อของทางการกล่าว
ปีนี้ลาวยังไม่ได้รับอิทธิพลจากไต้ฝุ่น หรือพายุโซนร้อนจากทะเลจีนใต้แม่แต้ลูกเดียว ต่างไปจากช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2554 ลาวได้รับผลกระทบรุนแรงจากพายุไหหม่า กับพายุนกเต็นซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน 5 แขวงภาคกลาง กับภาคเหนือตั้งแต่เชียงขวาง เวียงจันทน์ ไซยะบูลี รอบนอกเมืองหลวง ไล่ลงไปยังแขวงภาคกลางอื่นๆ กับภาคใต้ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 30 คน
การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากปีที่แล้ว ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขวงภาคกลาง กับภาคใต้
.
2
3
ตามรายงานของสื่อทางการ ได้มีการเซ็นสัญญา “ความช่วยเหลือฉุกเฉิน” ในวันศุกร์ 24 ส.ค. ให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยในแขวงคำม่วน สะหวันนะเขต และจำปาสัก ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมจากพายุไหหม่า กับพายุนกเต็น เป็นความตกลงระหว่างองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กับรัฐบาลลาว เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูครอบครัวราษฎรใน 3 แขวงภาคกลางกับภาคใต้ ในรูปพันธุ์ปลากับสัตว์ปีก ด้วยเงินทุนจากรัฐบาลเบลเยียมกว่า 300,000 ดอลลาร์
ในปี 2554 มีชาวลาวประสบภัยจากพายุทั้งสองลูกมากกว่า 390,000 ครอบครัว ใน 17,903 หมู่บ้าน 94 เมือง (อำเภอ) ใน 12 แขวง (จังหวัด) สื่อของทางการกล่าว
ใต้ลงไปในกัมพูชา ปัจจุบันภัยแล้งแผ่ลามครอบคลุมถึง 52 อำเภอในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ราษฎรขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และยังรอคอยเมล็ดพันธุ์ข้าวหลังจากข้าวนาปีกว่า 100,000 เฮกตาร์ (625,000 ไร่) ที่ปักดำไปก่อนหน้านี้แห้งตาย ยังมีที่นาอีกราว 200,000 เฮกตาร์ (1,250,000 ไร่) ไม่สามารถไถหว่านได้ สำนักข่าวกัมพูชารายงานในวันจันทร์ 27 ส.ค.นี้ อ้างการแถลงของคณะกรรมการควบคุมพิบัติแห่งชาติ
ภัยแล้งกำลังลามอยู่ใน จ.เปรย์แวง กัมโป้ท กำปงสะปือ กัมปงชะนัง และ จ.โพธิสัตว์ อย่างไรก็ตาม มีบางท้องถิ่นที่นาข้าวกำลังจมน้ำเช่นกัน นายญิมวันดา รัฐมนตรีอาวุโสผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการควบคุมและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกล่าว.