.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บริษัทผู้ผลิตในรัสเซีย กำลังจะนำเครื่องบินฝึกล้ำยุค ยาค็อฟเลวา (Yakovleva) Yak-130 ขึ้นบินโชว์สัปดาห์หน้านี้ ในงานแสดงนิทรรศการอากาศยานที่ฟาร์นโบโรห์ แอร์โชว์ 2012 (Farnborough Air Show 2012) ในประเทศอังกฤษ จะเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าจะได้เห็นของจริง หลังจากผู้ผลิตเผยแพร่ข่าวออกมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว
บฝ.แย็ก-130 “ยาคอฟเลฟ” จะไปบินสาธิตในงานนี้พร้อม “ของแข็ง” จากค่ายรัสเซียอีกหลายรายการ ซึ่งรวมทั้ง MiG-35 รุ่นปรับปรุงใหม่ กับ Su-35 เครื่องบินยุคที่ 4++ อันเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในวงการป้องกันทางอากาศขณะนี้ด้วย ซึ่งคาดว่า จะมีเงินสะพัดถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะยังลูกผีลูกคนอยู่ก็ตาม
แย็ก-130 คือเครื่องบินฝึกขับไล่โจมตีไอพ่นความเร็วเหนือเสียงแบบ 2 ที่นั่ง ที่ได้ชื่อว่าล้ำหน้ามากที่สุดในปัจจุบัน ติดระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเรดาร์ที่ก้าวหน้า มีระบบเลียนแบบเครื่องบินรบยุคที่ 4++ และ ยุคที่ 5 ครบเครื่อง ติดระบบอาวุธจริง ปฏิบัติการโจมตีได้จริงเช่นเครื่องบินรบ
แย็ก-130 รุ่นก่อนนี้ เป็นเครื่องบินเจ็ตสำหรับฝึกอย่างเดียว (Jet Trainer)
บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเอียร์คุต (Irkut) ผลิต Yak-130 ขึ้นมา สำหรับฝึกนักบินกองทัพอากาศรัสเซีย เพื่อเตรียมรับ Su-35 กับ T-50 PAK FA เครื่องบินรบยุคที่ 5 ที่ใช้เทคโนโลยี “ล่องหน” (Stealth) ที่จะเข้าประจำการในปีข้างหน้านี้ พร้อมผลิตอีกเวอร์ชันหนึ่งสำหรับส่งออก
บฝ.รุ่นใหม่เอี่ยมนี้ได้ชื่อเป็น “เครื่องบินฝึกขับไล่โจมตี” (Combat Jet Trainer) ออกแบบมาสำหรับฝึกนักบินไอพ่นของทุกค่าย ทั้งเครื่องบินรบยุคที่ 4+ ไม่ว่าจะใหม่หรือเก่า และเครื่องบินรบยุคที่ 5 ที่ทยอยเข้าประจำการกองทัพอากาศของหลายประเทศขณะนี้ สำนักข่าวโนวอสติของรัสเซียรายงาน
บริษัทเอียร์คุต (Irkut) ผู้ผลิตคาดว่า ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้าจะต้องทำ Yak-130 ออกมาอย่างน้อย 250 ลำ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งอเมริกาเหนือ-ใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา รวมทั้ง 65 ลำแรกของกองทัพอากาศรัสเซียด้วย
ในย่านเอเชีย เวียดนามเป็นลูกค้ารายแรกๆ โดยสั่งซื้อ Yak-130UBS จำนวน 12 ลำ ปีที่แล้ว และมีกำหนดส่งมอบลำแรกในปี 2558 เพื่อนำเข้าใช้แทน L-39 “อัลบาทรอส” ที่ใช้งานมานาน
ลูกค้าในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังรวมทั้งมาเลเซียซึ่งมีแผนการจัดซื้อระหว่าง 18-24 ลำ กับประเทศไทยอาจจะซื้อ 6-12 ลำ ระหว่างปี 2558-2570 เพื่อใช้แทน L-39 “Albatros” ส่วนฟิลิปปินส์ที่แจ้งความประสงค์จะซื้อเพื่อใช้แทน Yak-130 รุ่นเจ็ตเทรนเนอร์ธรรมดา โนวอสติยังรายงานอีกว่าในปีข้างหน้านี้ Yak-130 มีลูกค้ารอส่งมอบอีกกว่า 10 ประเทศ
ฟาร์นโบโรห์ แอร์โชว์จัดขึ้น 2 ปีต่อครั้ง สลับกันกับปารีส แอร์โชว์ (Paris Air Show) ที่สนามบินเลอบูร์เฌ ใกล้กับเมืองหลวงฝรั่งเศส และถึงแม้ว่าทั้งสองงานนี้จะมุ่งเน้นไปที่การแสดงอากาศยานเพื่อการคมนาคมขนส่งรุ่นใหม่ๆ เพื่อใช้ในกิจการพลเรือนเป็นหลัก แต่ทุกๆ ปี ก็จะมีเครื่องบินรบ และอากาศยานที่ใช้ในด้านกลาโหมชนิดอื่นๆ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์การบินทันสมัยไปร่วมออกงานด้วยเสมอมา ครั้งนี้ก็เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม งานอากาศยานระดับโลกย่อมหนีไม่พ้นโบอิ้ง กับแอร์บัส สองผู้ผลิตคู่แข่งหลักของโลก แต่ขณะเดียวกัน ผู้เจ้าชมจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะจับตาผลงานของผู้ผลิตรายเล็กจากแคนาดา และบราซิล ที่แทรกตัวเข้างานนี้ทุกปี
โบอิ้งกำลังจะนำ F/A18 “ซูเปอร์ฮอร์เน็ต” เครื่องบินรบยุค 4++ รุ่นใหม่เอี่ยมออกบินโชว์ พร้อมกับ V-22 “ออสเปรย์” อากาศยานรูปทรงประหลาด แต่สารพัดประโยชน์ ค่ายสหรัฐฯ ยังนำ F-16 “เหยี่ยวประจัญบาน” บล็อกใหม่ กับ C-130J รุ่นใหม่ออกแสดงด้วย เช่นเดียวกันกับค่าย SAAB ซึงจะไม่พลาด นำ JAS-39 “กริพเพ่น” เครื่องบินรบคุณภาพสูงในราคาที่เป็นมิตรออกงานด้วย
ข่าวล่าสุดในสัปดาห์นี้ก็คือ แอร์บัสอาจจะไม่สามารรถนำ A400M เครื่องบินลำเลียงขนส่งทหารขึ้นบินโชว์ได้ เพราะติดขัดเรื่องเทคนิคที่สำคัญเกี่ยวกับเครื่องยนต์ และโบอิ้งก็อาจจะไม่สามารถนำ 737MAX ขึ้นบินสาธิตได้ แต่จะได้เห็น 737-800 ลำใหม่ของโคเรียน แอร์ไลน์กับ 747-8 ลำตัวยาวไปออกงาน
ขณะเดียวกัน ฝูงบินผาดโผน Su-27 “รัสเชี่ยนไนท์” ของรัสเซียกำลังรอใบอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมจนนาทีสุดท้าย และอาจจะไปถึงฟาร์นโบโรห์ช้ากว่าทุกปี โนวอสติรายงาน
รัสเซียกำลังจะนำเฮลิคอปเตอร์ 2-3 รุ่น ออกแสดง รวมทั้ง Mi-17 อากาศยานปีกหมุนที่ขายดีที่สุดในในโลก ซึ่งมีทั้งรุ่นที่ผลิตใช้ในกิจการพลเรือน กับรุ่นผลิตเพื่อใช้ในกองทัพ
Su-35 ออกอวดสายตาแฟนๆ
ค่ายซูคอยจะนำ Superjet 100 ไปบินแก้ตัวอีกครั้ง หลังจากเครื่องบินสาธิตลำหนึ่งบินชนภูเขาในอินโดนีเซียใน เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้โดยสารลูกเรือกว่าครึ่งร้อยเสียชีวิตทั้งหมด แต่ซูคอยบอกว่า ไม่น่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ และการตลาด เนื่องจากอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของเครื่องบิน
นอกจากนั้น โรงงานผลิตเครื่องบินรบของซูคอยกำลังจะนำ Su-35 ขึ้นประกาศศักดาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้ง MiG-35 กับอีกรุ่นหนึ่งคือ Su-32 ซึ่งเป็นเวอร์ชันสำหรับส่งออกของเครื่องบินรบ Su-34 และ ขาดไม่ได้คือ T-50 “สเตลธ์”
เครื่องบินรบ Su-35 กำลังจะออกงานใหญ่อวดสายตาตะวันตก หลังจากรัสเซียตัดสินใจเมื่อต้นปีนี้ไม่ขายให้จีน หลังจากการเจรจาที่ดำเนินมาปีเศษไม่เป็นผล ผู้บริหารของซูคอยเปิดเผยในแอร์โชว์ในรัฐปีนัง มาเลเซียเมื่อต้นปีนี้
สื่อกลาโหมในรัสเซียรายงานเวลาต่อมาว่า เวียดนามอาจจะเป็นลูกค้ารายแรกของ Su-35 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.