.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ลาวได้เริ่มเผยแพร่กฎหมายว่าด้วยแร่และทรัพยากรธรรมชาติฉบับใหม่ เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า ในปัจจุบัน ผู้กำกับดูแลกิจกรรม และกิจการเกี่ยวกับการทำเหมือง และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในประเทศมี 2 กระทรวง ไม่ได้รวมศูนย์อยู่ในกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่เมือนเมื่อก่อน
ระยะที่ผ่านมา ยังมีการออกกฎระเบียบอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง การเผยแพร่ในระดับส่วนกลางจัดขึ้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายสุลิวง ดาลาวง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานฯ มีหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจาก 17 แขวงทั่วประเทศ ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ และอื่นๆ กว่า 200 คนเข้าร่วมรับฟัง สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
กฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ดูแลและปกปักรักษาทรัพยากรแร่ธาตุทั่วไป จัดตั้งและดำเนินการขุดค้นหา สำรวจเพื่อประเมินคุณภาพและปริมาณสะสมของแร่ คุ้มครองธุรกิจเกี่ยวกับแร่ธาตุในระยะขุดค้น สำรวจและคุ้มครองเขตสงวนแร่ธาตุต่างๆ ของรัฐบาล”
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานและเหมืองจะเป็นผู้ “คุ้มครองธุรกิจด้านเหมืองแร่” ขปล.กล่าว
ในวันเดียวกัน ยังมีการปรึกษาหารือร่วมกับบรรดาผู้ลงทุน ผู้ประกอบการเหมืองแร่ และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียน เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองการลงทุนด้านนี้ ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายที่สภาแห่งชาติกำหนด สำนักข่าวของรัฐบาลกล่าว
ตามรายงานของธนาคารโลก อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแร่ธาตุ เป็นกลจักรสำคัญผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวในช่วงหลายปีมานี้
.
.
สำนักข่าวของทางการกล่าวว่า ปีงบประมาณ 2510-2511 (สิ้นสุด มี.ค.2554) ยอดผลิตภัณฑ์รวมของแขนงเหมืองแร่ ขยายตัว 14.4% คิดเป็น 7.2% ของผลผลิตรวมในประเทศ
ปัจจุบัน ธนาคารโลก และรัฐบาลเยอรมนีได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลาว ในโครงการพัฒนาระบบบริหาร และคุ้มครองการสำรวจ และการทำธุรกิจเหมืองแร่อย่างยั่งยืน
ไม่กี่ปีมานี้ ลาวได้เคร่งครัดกับการลงทุนสำรวจและขุดค้นทรัพยากรมากยิ่งขึ้น หลังจากทรัพยากรมีน้อยลง และส่วนใหญ่ได้เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้าสำรวจแล้ว ขณะเดียวกัน หลายโครงการได้สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น
ปีที่แล้วลาวได้ประกาศงดออกใบอนุญาตการบลงทุนเหมืองแร่เป็นการชั่วคราว เพื่อจัดร่างกฎหมายเกี่ยวกับบริหารจัดการแร่ธาตุและทรัพยากรแห่งชาติเสียใหม่
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ปี 2549 มีเหมืองแร่ที่กำลังดำเนินอยู่ในลาวเพียง 119 โครงการ ในนั้น 33 โครงการลงทุนโดยต่างประเทศ แต่จนถึงเดือน พ.ย.2553 จำนวนได้เพิ่มขึ้นเป็น 263 โครงการ โครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด ลงทุนโดยบริษัทจากต่างชาติภายใต้ระบบสัมปทาน.