.
เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติเตือนว่า ความรุนแรงในพื้นที่ภาคตะวันตกของพม่า เป็นภัยคุกคามต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศ และการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นสาเหตุของความไม่สงบ
ทางการพม่าประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐยะไข่ ที่เกิดเหตุปะทะโจมตีกันหลายระลอก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยหลายสิบราย และทำให้ประชาชนหลายร้อยคนของทั้งสองฝ่ายต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือนของตนเองตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา
นายโทมัส โอเจีย ควินตานา ทูตด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ากำจัดที่ต้นตอของสาเหตุการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในรัฐ พร้อมทั้งระบุว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา เป็นภัยคุกคามต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และความมั่นคงของพม่า
“ผมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามอดทนอดกลั้น เคารพกฎหมาย และยุติการใช้ความรุนแรง” นายควินตานา กล่าวในคำแถลงที่เผยแพร่วานนี้ (13)
นับเป็นเวลานานหลายทศวรรษของการเลือกปฏิบัติ ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติกระจายอยู่ทั่วโลก สหประชาชาติระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มแหงมากที่สุดในโลก และพม่ามีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 800,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่
รัฐบาลพม่ากำหนดสถานะให้ชาวโรฮิงญาเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ชาวพม่าจำนวนมากมองว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาในประเทศผิดกฎหมาย และมองว่าเป็นภัยคุกคาม
รายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เผยแพร่ในเดือน ธ.ค. ระบุว่า ชาวโรฮิงญามักถูกบังคับใช้แรงงาน จำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนไหว ไร้สิทธิในที่ดิน การศึกษา และบริการสาธารณะ
สหประชาชาติได้อพยพยเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติออกจากสำนักงานในรัฐยะไข่ แต่นายวีเจย์ นามเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการพม่าของสหประชาชาติ ได้เดินทางไปยังรัฐยะไข่ในวันนี้ (14) เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น.