.
เอเยนซี (กรุงเทพฯ) - ชาวย้างกุ้งหลายร้อยคนยังคงไปชุมนุมกันอย่างสงบที่มหาเจดีย์สุเลในคืนวันพฤหัสบดี 24 พ.ค.นี้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น ในวันเดียวกัน ตำรวจพม่าจะได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมประท้วงไฟฟ้าขาดแคลนของประชาชนหลายร้อยคนในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือก็ตาม นับเป็นวันที่ห้าของการทดสอบขอบเขตสิทธิเสรีภาพ หลังจากหลายเดือนก่อน รัฐสภาได้ผ่านรัฐบัญญัติทำให้การชุมนุมประท้วง กับการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดขึ้นที่เมืองปี (Pyi) ราว 260 กม.ทางทิศเหนือของกรุงเก่า ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงจำนวน 5 คนไปสอบปากคำ รวมทั้งสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีด้วย อีก 4 คน ที่เหลือเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม
แต่ก่อนหน้านั้นในวันพุธที่เมืองมัณฑะเลย์ มีสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีถูกจับกุมไปหลายคน เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงที่ปะทุขึ้นในวันอาทิตย์
นอกจากนั้น ยังมีการประท้วงของคนงานในเขตอุตสาหกรรมชานกรุงย่างกุ้งเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงาน ซึ่งถือเป็นการทดสอบขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนได้เข้าแทนที่ระบอบปกครองทหารในเดือน มี.ค.2554
ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง จัดหากระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการในฤดูร้อน โดยลดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งขายให้แก่จีนลง
นายเนียนวิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy) กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข่าวมีผู้เข้าร่วมการประท้วงที่เมืองปีราว 400 คน และสมาชิกพรรคผู้หนึ่งเปิดเผยว่า ผู้ถูกจับกุมทั้ง 5 ได้รับอิสรภาพแล้วในบ่ายวันพฤหัสบดี หลังถูกคุมขังเป็นเวลาสั้นๆ และฝูงชนได้เข้าห้อมล้อมกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยพวกเขา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนได้ออกเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าได้อดทนต่อการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ และการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของประชน โดยจะต้องไม่ใช้มาตรการรุนแรงใดๆ ในการแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม นายทิ้นส่วย (Tint Swe) กรรมการพรรคเอ็นแอลดี ในมัณฑะเลย์บอกกับรอยเตอร์ว่า ตัวเขาเองกับสมาชิกอีก 2 คน ถูกควบคุมตัวเมื่อเวลา 17.00 น. วันพุธ มีการสอบปากคำราว 2 ชั่วโมง ฐานต้องสงสัยอยู่เบื้องหลังการประท้วง แต่ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างดี ก่อนจะได้กลับบ้านในอีก 5 ชั่วโมงถัดไป
.
2
สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรายงานก่อนหน้านี้ว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากบริษัทแคเตอร์พิลลา แห่งสหรัฐฯ จำนวน 5 เครื่อง จะส่งทางเครื่องบินถึงพม่าใน 2 สัปดาห์ ทางการยังจะซื้อกังหันแก๊สเทอร์ไบน์ขนาด 25 เมกะวัตต์อีก 2 เครื่อง จากบริษัทเยเนอรัลอีเล็กตริค (General Electric) สหรัฐฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนที่ยืดเยื้อมานานปี
นอกจากนั้น รัฐบาลยังจะเร่งซ่อมแซมสถานีไฟฟ้าอีก 2 แห่งในรัฐกะฉิ่นทางตอนเหนือ ที่เสียหายจากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังกะฉิ่นอิสระกับฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย
ในพม่ากำลังมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากว่า 10 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนโดยรัฐบาล แต่ก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะปั่นไฟออกมาใช้ได้ ในฤดูแล้งเมื่อน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยลง เขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งต่างๆ ในปัจจุบันก็ผลิตไฟฟ้าได้ลดลง
ตลอดหลายปีมานี้ กรุงย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ กับมัณฑะเลย์เผชิญปัญหาไฟดับตลอดมาทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน บริษัทห้างร้าน และธุรกิจต่างๆ กระทั่งครัวเรือนที่มีอันจะกินจึงต้องมีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ไว้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง
การประท้วงเกี่ยวกับเรื่องปากท้องครั้งใหญ่มีขึ้นในปลายปี 2550 หลังจากรัฐบาลขึ้นค่าน้ำมันและก๊าซถึง 6 เท่าตัวโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า การประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์ลงเอยเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี ทางการกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิต 33 คน แต่องค์การสหประชาชาติประเมินว่ามีมากกว่านั้น
การประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพม่าเกิดขึ้นในปี 2531 ประชาชนนับแสนๆ ลงท้องถนนเรียกร้องประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเผด็จการปราบปรามอย่างป่าเถื่อน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไปกว่า 3,000 คน ทำให้พม่าถูกประณามไปทั่วโลก และเป็นที่มาของการคว่ำบาตรที่นำโดยสหภาพยุโรป กับสหรัฐฯ
ทุกฝ่ายต่างหวังว่า ยุคใหม่จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนั้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกเพียง 3 ปี พม่าก็จะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 9 ประเทศ ภายใต้ความตกลงการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ย่างกุ้งยืนหยัด REUTERS/Damir Sagolj/Soe Zeya Tun
คืนวันพฤหัสบดี 24 พ.ค.2555 ชาวกรุงย่างกุ้งหลายร้อยคนยังไปชุมนุมกันอย่างสงบเป็นคืนที่สามติดต่อกันที่มหาเจดีย์สุเล เพื่อประท้วงไฟดับที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงนี้ แม้ว่าในวันเดียวกัน ตำรวจจะเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนอีกหลายร้อยคนในเมืองปี (Pyi) ที่อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือกว่า 200 กม. และมีผู้ถูกจับกุมไปสอบสวน 5 คนก็ตาม ยังไม่ทราบข่าวคราวล่าสุดจากมัณฑะเลย์แหล่งจุดประกายการประท้วงระลอกล่าสุดนี้ หลังจากในวันพุธมีผู้ถูกจับกุมไปหลายคน รวมทั้งสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีด้วย แต่ทั้งหมดได้อิสรภาพในเวลาต่อมา ทั้งหมดต่อไปนี้เป็นภาพเหตุการณ์ในกรุงย่างกุ้งระหว่างคืนวันที่ 22-24 พ.ค.2555. |
3
4
5
6
7
8
9
10
11
“ถ้าหากประเทศหนึ่ง หรือประชาคมหนึ่งปวารณาตัวจะเป็นประชาธิปไตย ก็จะต้องจัดเตรียมรับมือกับการเข้ามีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมาก แรงกดดัน ความขัดแย้ง ความตึงเครียด และในบางกรณีเป็นความรุนแรง” เลขาธิการอาเซียนกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ในกรุงโตเกียว
ผู้ประท้วงหลายคนกล่าวว่า ในเมืองมัณฑะเลย์มีไฟฟ้าใช้ตลอดคืนในคืนวันพุธที่ผ่านมา หลังการประท้วงเริ่มขึ้น แต่นักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้หนึ่งกล่าวว่า ในย่านรอบนอกกรุงย่างกุ้งยังอยู่ในความมืดอยู่เช่นเดิม
กลุ่มผู้ประท้วงกล่าวหาว่า คณะปกครองทหารสร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเองกับพวกพ้องโดยจำหน่ายแก๊สปริมาณมหาศาลในทะเลเบงกอลให้จีน ขณะที่พม่าเองยังขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง และยังเป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ลดการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนทางภาคเหนือให้แก่จีนลง เพื่อนำมาใช้บรรเทาการขาดแคลนในประเทศ
นายหงเล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนให้สัมภาษณ์ในวันพฤหัสบดีนี้ ปฏิเสธว่าการประท้วงในพม่าไม่ได้เกี่ยวกับไฟฟ้าที่จีนซื้อจากพม่าซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ผู้ประท้วงพากันโกรธแค้นเกี่ยวกับระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศที่ยังไม่ทั่วถึง และจีนยินดีที่จะช่วยพม่าปรับปรุง
ปัจจุบัน มีประชาชนพม่าเพียงประมาณ 25% ที่ได้ใช้ไฟฟ้า และมีอัตราการใช้ต่ำเพียง 104 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อคน ซึ่งเป็นระดับเกือบจะเท่าๆ กับประเทศคองโก และเนปาล ทั้งนี้เป็นตัวเลขของธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย.