xs
xsm
sm
md
lg

มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง ประท้วงไฟฟ้าขาดแคลนต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ชาวพม่ารวมตัวประท้วงไฟฟ้าขาดแคลน จุดเทียนสวดอธิษฐานหน้าเจดีย์ซูเล ในนครย่างกุ้ง ขณะที่ชาวเมืองมัณฑะเลย์ชุมนุมประท้วงต่อเนื่องเป็นคืนที่ 3. --AFP PHOTO/Soe Than Win.  </font></b>

เอเอฟพี - การชุมนุมประท้วงภาวะไฟฟ้าขาดแคลนในพม่าแพร่ขยายมายังนครย่างกุ้งในคืนวันอังคาร (22 พ.ค.) หลังชาวเมืองมัณฑะเลย์ชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง และมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเป็นระยะเวลาสั้นๆ

ชาวพม่ากำลังทดสอบขอบเขตเสรีภาพของตนเอง ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปีก่อน โดยการประท้วงในนครย่างกุ้งเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ มีผู้เข้าร่วมราว 150 คน ที่บริเวณหน้าเจดีย์ซูเล ใจกลางเมือง ทั้งนักเคลื่อนไหว และอดีตนักโทษการเมืองเข้าร่วมในการชุมนุมพร้อมร้องตะโกนว่า “เราต้องการไฟฟ้า 24 ชั่วโมง” อยู่เป็นเวลานาน 10 นาที ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัวหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอ

ชาวพม่าในนครย่างกุ้งต้องประสบกับภาวะไฟฟ้าดับนานกว่า 6 ชั่วโมง และนานกว่า 3 เท่าตัวในเมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้ประชาชนราว 1,500 คน รวมตัวกันชุมนุมประท้วงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่นับว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี เมื่อข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมแพร่ไปบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก

“เราไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถ้าไม่มีไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศ” ฉ่วย ยี ผู้ประท้วงอายุ 21 ปี จากนครย่างกุ้ง กล่าว

ประชาชนในเมืองมัณฑะเลย์ราว 400 คน รวมตัวชุมนุมประท้วงเหตุไฟฟ้าดับต่อเนื่องยาวนาน เป็นคืนที่ 3 หลังชาวบ้านมากกว่าพันคนออกมาชุมนุมในวันอาทิตย์ และวันจันทร์ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยายามให้ผู้ชุมนุมย้ายออกจากบริเวณศาสนสถานที่มีพระสงฆ์เข้าร่วมด้วย และมีสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางอองซาน ซูจีประมาณ 10 คน ถูกควบคุมตัวไปสอบถาม

“เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อพวกเราเป็นอย่างดี และปล่อยตัวหลังจากนั้น” นายออน กาย ส.ส.พรรค NLD จากเมืองมัณฑะเลย์ กล่าว

การชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในพม่า แต่จากกฎหมายใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของกองทัพทหาร ระบุ ให้ประชาชนสามารถจัดชุมนุมประท้วงได้หากได้รับอนุญาต

ผู้ชุมนุมระบุว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดหาไฟฟ้าให้แก่พลเมืองของประเทศ ขณะที่ขายพลังงานไฟฟ้าให้แก่จีน และตามการรายงานของธนาคารโลกในปี 2552 ระบุว่า ประชากรของพม่าเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้า

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานคำอธิบายของกระทรวงพลังงานไฟฟ้าว่า การบริโภคพลังงานในช่วงฤดูร้อนเพิ่มสูงทำให้ไฟฟ้าขาดแคลน และร้องขอให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไฟฟ้าต้องถูกสลับแจกจ่ายให้แก่ประชาชน และเรียกร้องให้ประชาชนประหยัดพลังงาน รวมทั้งระบุว่า เหตุเสาส่งกระแสไฟฟ้า 4 ต้นในรัฐชานถูกกลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อยทำลายเมื่อวันเสาร์ ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น