เอเอฟพี - หลังไร้สิทธิไร้เสียงมานานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร ในตอนนี้ บรรดาเหล่าแรงงานชาวพม่ากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการการทำงานที่ดีขึ้น เมื่อกฎหมายใหม่ให้สิทธิแรงงานสามารถผละงานประท้วงได้
แรงงานในพม่าเริ่มทดสอบพลังรูปแบบใหม่ที่ได้รับด้วยการผละงานประท้วงตามกฎหมายอันเนื่องจากความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศ
พนักงานจำนวนหลายร้อยคนจากโรงงานสิ่งทอ 3 แห่ง ในเขตอุตสาหกรรมหล่ายทาร์ยาร์ (Hlaing Thar Yar) นครย่างกุ้ง ผละงานประท้วงเมื่อสัปดาห์ก่อน เรียกร้องการปรับปรุงสภาพการทำงานอยู่บริเวณภายนอกโรงงาน แรงงานที่ร่วมชุมนุมทั้งตบมือและร้องเพลง ไม่แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวอย่างในอดีตเมื่อแสดงการต่อต้านอย่างเปิดเผยเช่นนี้
“หากพวกเขาจะไล่พวกเราออก พวกเขาจะต้องไล่เราทั้ง 800 คน” แรงงานหญิงอายุ 26 ปี กล่าว โดยไม่แสดงความหวาดกลัวว่าจะตกงาน
“หากพวกเขาไม่ขึ้นเงินเดือน เราจะประท้วงต่อ” แรงงานหญิงคนเดิมกล่าว พร้อมระบุว่า เธอได้รับค่าแรงราว 60 ดอลลาร์ต่อเดือน
กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่เห็นชอบโดยประธานาธิบดีเต็งเส่งเพื่อใช้แทนฉบับปี 2505 ที่ร่างขึ้นจากความช่วยเหลือขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยระบุให้สิทธิแรงงานสามารถผละงานประท้วงได้ต่อเมื่อแจ้งล่วงหน้า และสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้หากมีสมาชิกอย่างน้อย 30 คน ซึ่งกฎหมายใหม่ฉบับนี้เป็นความท้าทายต่อทั้งคนงาน และนายจ้างในพม่า ประเทศที่การคัดค้านมักถูกปราบปรามโดยรัฐบาลทหารเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าบริหารในปีที่ผ่านมา
“นี่เป็นช่วงเริ่มต้นของสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมแบบใหม่ ประชาชนยังต้องพยายามรับมือ ทำความเข้าใจกับสิทธิ และความรับผิดชอบที่ได้รับใหม่นี้” สตีฟ มาร์แชล จาก ILO สำนักงานพม่า กล่าว
มาร์แชลกล่าวว่า ประชาชนอาจตระหนักเพียงว่าในตอนนี้ พวกเขามีสิทธิที่จะผละงานประท้วง แต่ยังเข้าใจเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการเจรจาต่อรองกับนายจ้างที่ต้องปรับตัวเข้ากับกฎหมายใหม่นี้เช่นเดียวกัน
“เราอาจจะได้เห็นการหยุดชะงักของอุตสาหกรรม และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้” มาร์แชล กล่าว
นักการทูตต่างชาติรายหนึ่งกล่าวถึงกฎหมายใหม่นี้ว่า อาจถูกพิจารณาให้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดในเอเชีย แต่จะดำเนินการไปได้อย่างไรในสังคมพม่าปัจจุบัน ที่ดูว่าจะยังไม่พร้อมมากนัก เนื่องจากพม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และแม้ว่าจะมีความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวเมื่อเปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุน แต่โอกาสในการทำงานยังคงหาได้ยากและประชาชนต้องเผชิญกับราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น
ผู้ชุมนุมประท้วงที่เขตอุสาหกรรมหล่ายทาร์ยาร์กล่าวว่า แรงงานต้องการค่าครองชีพเพิ่มอีก 30,000 จ๊าต (ราว 37 ดอลลาร์) ต่อเดือน ที่จะช่วยปรับให้เงินเดือนรวมอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ แต่นายจ้างเห็นชอบที่จะขึ้นค่าครองชีพที่ 12 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นที่พอใจสำหรับเหล่าแรงงาน และบริษัทระบุในแถลงว่า แรงงานที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของบริษัทภายในวันที่ 18 พ.ค. จะถูกพิจารณาว่าลาออกตามความประสงค์ของตัวเอง แต่ผู้ชุมนุมประท้วงกลับเพิกเฉยกับเส้นตายที่นายจ้างระบุมา
นี่เป็นเพียง 1 ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในการชุมนุมประท้วงโรงงานในพม่า ประเทศที่แรงงานค่าแรงต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ผลิตต่างชาติที่หวังจะเข้ามาตั้งกิจการในพม่า
เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. แรงงานราว 300 คน จากโรงงานวิกผมในเขตอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ ได้ผละงานประท้วงเรียกร้องค่าแรงพื้นฐานปรับขึ้น จากราว 12 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 38 ดอลลาร์ต่อเดือน
“เราเผชิญกับปัญหานี้มาเป็นเวลานาน ซึ่งเราไม่สามารถรับมันไหวอีกต่อไป” แรงงานอายุ 23 ปี กล่าว และนายจ้างชาวเกาหลีใต้ได้ยินยอมตามข้อเรียกร้องของพนักงาน
“การประท้วงเกิดขึ้นในโรงงานต่างๆ ในเขตอุตสาหกรรมทุกวัน” ทนายความที่ว่าความให้แก่แรงงานของโรงงานสิ่งทอกล่าว
การปฏิรูปยังไม่ส่งผ่านไปยังบรรดานายจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ในกระทรวงแรงงาน ดังนั้น แรงงานจึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากชุมนุมประท้วงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคง และอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจลาจลของบรรดาแรงงาน แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมายังเป็นเพียงระดับเล็ก และแรงงานเลือกที่จะผละงานประท้วงอันเป็นรูปแบบขั้นต้นของการต่อรอง และเห็นชอบกับการแก้ปัญหาในเวลาเพียงไม่กี่วัน
เย นาย วิน คณะกรรมาธิการเพื่อการก่อตั้งสหภาพแรงงานอิสระที่เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ มีการผละงานประท้วงแล้วมากกว่า 20 ครั้ง และคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกมาก
“การประท้วงเกิดขึ้นเพราะค่าแรงพื้นฐานที่พวกเขาได้รับนั้นน้อยมาก และการใช้ชีวิตก็เป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้นทุกที โรงงานเหล่านี้เป็นเหมือนเรือนจำ” เย นาย วิน กล่าว.