xs
xsm
sm
md
lg

สื่อพม่าใช้เฟสบุค ทวิตเตอร์ รายงานผลการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเตรียมความพร้อมคูหาเลือกตั้งรอบสุดท้าย ในคูหาแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง วันที่ 31 มี.ค. สื่อเอกชนของพม่าจะใช้การรายงานข่าวผ่านเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟสบุคและทวิตเตอร์ เพื่อให้ทันเหตุการณ์การเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ (1 เม.ย.) . --AFP PHOTO/Soe Than Win.  </font></b>

เอเอฟพี - การเลือกตั้งที่นางอองซานซูจีเข้าร่วมเป็นครั้งแรกและคาดว่าจะก้าวเข้าสู่รัฐสภา ถือว่าเป็นความท้าทายของบรรณาธิการข่าวของบรรดาสื่อต่างๆ ในประเทศที่ถูกควบคุมมาอย่างยาวนาน บรรดาผู้สื่อข่าวพม่าเลือกใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่นเฟสบุคและทวิตเตอร์ รายงานข่าวการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ (1 เม.ย.) เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดกฎระเบียบสื่อของรัฐ

"สื่อสิ่งพิมพ์รายงานข่าวของเอกชนตีพิมพ์อยู่ในรูปของรายสัปดาห์ทั้งหมด หลังรัฐบาลทหารพม่าเป็นเจ้าของสิ่งพิมพ์รายวันมาตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และครั้งนี้ ทุกคนต้องการที่จะรายงานข่าวฉบับวันจันทร์ " นายติลา ซอ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ โอเพ่นนิวส์ หนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับที่ขออนุญาตตีพิมพ์ข่าวหลังการเลือกตั้งซ่อม กล่าว

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับยังคงตีพิมพ์ตามกำหนดเดิม แต่จะหันไปพึ่งพาเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการรายงานข่าวให้กับผู้อ่านให้ทันต่อเหตุการณ์แทน

"หนังสือพิมพ์ของเราจะตีพิมพ์หลังการเลือกตั้ง แต่เราจะรายงานข่าวบนเฟสบุคและทวิตเตอร์ของเรา และจะอัพเดททุกข่าวความเคลื่อนไหวทุกชั่วโมงทันทีที่คูหาเลือกตั้งเปิด" นางเน็ง เน็ง นาย บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ เซเว่นเดย์นิวส์ หนึ่งในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่คาดว่ามีผู้อ่านมากถึง 1.5 ล้านคน กล่าว พร้อมระบุว่า การรายงานข่าวด่วนผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้บรรณาธิการสามารถรายงานในสิ่งที่ต้องการได้

"สำหรับเฟสบุคและทวิตเตอร์ เราจะรายงานทุกอย่างที่เรามีและไม่มีการเซ็นเซอร์" นาง เน็ง เน็ง นาย กล่าว พร้อมระบุว่า เซเว่นเดย์นิวส์พึ่งพาเฟสบุคมากขึ้นในการเข้าถึงผู้อ่าน เช่น การรายงานข่าวเกี่ยวกับไฟฟ้าดับผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีผู้แสดงความคิดเห็นมากกว่าร้อยความเห็นและมีผู้ส่งต่อข่าวถึง 165 ครั้งภายในเวลา 2 ชั่วโมง

ขณะที่การเซ็นเซอร์เป็นอุปสรรคขัดขวางการรายงานข่าวการเลือกตั้งตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง แต่อินเทอร์เน็ตเองก็อาจประสบกับอุปสรรคเช่นสัญญาณขาดหายระหว่างช่วงเวลาเลือกตั้งเช่นกัน

"เราทุกคนเป็นห่วงเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่เพียงแต่เราเท่านั้น แต่ผู้สื่อข่าวทุกคนที่กำลังรายงานข่าวผ่านอินเทอร์เน็ต" นางเน็ง เน็ง นาย กล่าว และว่าผู้สื่อข่าวของเธอไม่สามารถส่งรูปถ่ายระหว่างที่นางอองซานซูจีเดินทางไปยังทางเหนือของประเทศเพราะสัญญาณติดต่อขาดหาย

ด้านนายวาย พยู บรรณาธิการอำนวยการสื่ออีเลฟเว่นมีเดีย กล่าวว่า เขากังวลเกี่ยวกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่องค์กรของเขาจะใช้บริการส่งข้อความข่าวให้กับสมาชิกที่ลงทะเบียนรับข่าวทางโทรศัพท์มือถือในคืนวันเลือกตั้ง

"เราจะใช้ทุกทางที่เป็นไปได้ส่งข้อมูลออกไป" นายวาย พยู กล่าว และหวังให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในวันนั้นเป็นไปด้วยดี พร้อมย้ำว่า โลกกำลังจับตามอง และเสรีภาพสื่อในการรายงานข่าวจะตัดสินว่าการเลือกตั้งซ่อมเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น