เอเอฟพี - จีนระบุวันนี้ (13 มี.ค.) รัฐบาลจีนได้ยื่นร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อพม่า ในกรณีทหารพม่าสองนายข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย บริเวณพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และยิงประชาชนในพื้นที่เสียชีวิตหนึ่งรายเมื่อช่วงต้นปี 2555 นี้
นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่บริเวณพรมแดนจีน-พม่า ในมณฑลหยุนหนัน
สื่อทางการของจีนไม่เคยรายงานถึงเหตุการณ์นี้มาก่อน และยังไม่แน่ชัดว่าเหตุใดรัฐบาลจีน ที่เป็นพันธมิตรสำคัญและนักลงทุนรายใหญ่ของพม่า ถึงเก็บเรื่องดังกล่าวไว้จนกระทั่งเวลานี้
“ฝ่ายจีนได้เรียกร้องให้พม่าสืบหาความจริง ลงโทษผู้กระทำผิด และชดเชยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต” นายหลิว เว่ยหมิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าว พร้อมระบุว่า ฝ่ายพม่าเองได้กล่าวว่าพม่าให้ความสนใจต่อเหตุดังกล่าวและเร่งดำเนินการสืบสวน
ทางด้านเว็บไซต์กะฉิ่นนิวส์ ที่รายงานเหตุการณ์จากรัฐกะฉิ่นในภาคเหนือของพม่าซึ่งมีการติดต่อใกล้ชิดกับกบฎชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ รายงานเมื่อเดือน ม.ค.ว่า เกษตรกรชาวกะฉิ่น 1 คน ถูกยิงเสียชีวิตในจีน
รายงานที่อ้างจากญาติผู้เสียชีวิตที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านติดพรมแดนฝั่งจีนระบุว่า ลาปายโซลอน (Lahpai Zau Lawn) อายุ 53 ปี ถูกยิงในระยะประชิดที่ช่วงท้องและอีกสองนัดที่ศีรษะ และรายงานยังระบุเพิ่มเติมว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการแก้แค้นหลังจากทหาร 2 นาย ที่ข้ามพรมแดนไปฝั่งจีนในเดือน ธ.ค.เพื่อหาอาหาร ถูกชาวบ้านในพื้นที่ควบคุมตัวและส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่จีน
โฆษกของสถานทูตพม่าในกรุงปักกิ่งไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
การยืนยันอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับเหตุยิงชาวนาจีนครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ระบุว่าบริษัทไชน่าพาวเวอร์อินเวสเม้นต์คอร์ปของรัฐบาลจีนได้ผลักดันพม่าให้เริ่มโครงการก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์อีกครั้ง
ในเดือน ก.ย.2554 ประธานาธิบดี เต็งเส่ง มีคำสั่งให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมี๊ตโสนหลังโครงการดังกล่าวถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้จะถูกส่งไปยังจีน
เขื่อนมี๊ตโสนตั้งอยู่บนแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่นของพม่า และนักสิ่งแวดล้อมได้เตือนถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ว่าจะทำให้พื้นที่กว้างขนาดเท่าเกาะสิงคโปร์จมอยู่ใต้น้ำ หลายสิบหมู่บ้านต้องจมน้ำ ประชาชนอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคนต้องอพยพยย้ายที่อยู่อาศัย และทำลายพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย