ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- หากสำนักข่าวตะวันตกรายงานไม่ผิด วุฒิสมาชิกชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ไปเยือนเวียดนามสัปดาห์นี้ กล่าวว่า “คนจำนวนไม่น้อย” ในรัฐสภา พร้อมสนับสนุนให้ “ขนถ่ายอาวุธ” ไปยังเวียดนามในยุคที่การเผชิญหน้ากับจีนกำลังเพิ่มทวี แต่ยังติดเงื่อนไขในเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
วุฒิสมาชิกโจเซฟ ลีเบอร์แมน จากมลรัฐคอนเน็คติกัต ประธานคณะกรรมาธิการกิจการภายในและความมั่นคง วุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า คนจำนวนมากในรัฐสภาสหรัฐฯ อยากจะสามารถช่วยให้ขนถ่ายอาวุธไปยังเวียดนามได้ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเพิ่มกระชับความมั่นคงด้านการเดินเรือ” แต่ดูจะยังเป็นไปไม่ได้ จนกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการปรับปรุง ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
วุฒิสมาชิกลีเบอร์แมน ซึ่งเป็นอดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คู่กับวุฒิสมาชิกอัลเบิร์ต กอร์ แห่งพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 23543 ระบุดังกล่าวระหว่างแถลงข่าวในกรุงฮานอยร่วมกับวุฒิสมาชิกอีก 4 คน ที่ไปเยือนเวียดนามสัปดาห์นี้ รวมทั้งวุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน อดีตนักบินทหารผ่านศึกที่เคยถูกฝ่ายเวียดนามเหนือยิงตกและถูกจับเป็นเชลย
ลีเบอร์แมน กล่าวเสริมเรื่องนี้หลังจากนายแม็คเคน กล่าวทำนองเดียวกัน ว่า สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามควรจะได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น “เพื่อช่วยต่อกรกับจีน” แต่ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนในเวียดนามเป็นตัวจำกัดความก้าวหน้า
“มีความตึงเครียดกับจีนเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับทะเลจีนใต้และประเด็นอื่นๆ และเราเชื่อว่าด้วยหลากหลายวิธีการที่ดำเนินต่อจีน และการเพิ่มขยายการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของเรากับเวียดนามย่อมเป็นสิ่งที่เรียกร้องต้องการ” วุฒิสมาชิกแม็คเคนแห่งพรรครีพับลิกัน ที่เคยสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2551 กล่าว
นายแม็คเคน ยังเปิดเผยด้วยว่าระหว่างการเยือนได้เข้าพบหารือกับบรรดาผู้นำเวียดนามหลายคนเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล และกรณีพิพาทเวียดนาม-จีนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเวียดนามด้วย
วุฒิสมาชิกสหรัฐฯคณะนี้เป็น สมาชิกรัฐสภาชุดแรกที่ไปเยือนเวียดนามในปีนี้ ก่อนจะเดินทางต่อไปเยือนพม่า เพื่อติดตามความคืบหน้าการปฏิรูป ในขณะที่การเลือกตั้งตั้งซ่อมทั่วประเทศกำลังจะมีขึ้นในเดือน เม.ย.ศกนี้ และนางอองซาน ซูจี ผู้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยในพม่า เข้าร่วมด้วย
.
2
สำหรับเวียดนาม ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่า ประเทศนี้ได้เคยขอซื้ออาวุธจากศัตรูเก่าสหรัฐฯ อย่างไรหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสองฝ่ายเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมาหลายครั้ง
เมื่อปีที่แล้วขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับเวียดนามพุ่งขึ้นขีดสูงเกี่ยวกับกรณีพิพาทน่านน้ำ สหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดจรวดร่อนโทมาฮอว์ก 2 ลำ กับเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่ง พร้อมกองเรือไปแวะเยือนเวียดนาม ซึ่งสื่อของทางการรายงานว่าเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ วอชิงตัน จอดลอยลำ “นอกน่านน้ำเวียดนาม” อันหมายถึงน่านน้ำที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของ ใน “แผนที่รูปตัวยู” ที่สร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว
สื่อของจีนไม่รายงานและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายจีนไม่ปริปากใดๆ ต่อการไปแวะเยือนเวียดนามของเรือรบสหรัฐฯ
หลายปีมานี้สหรัฐฯ กับเวียดนามได้ร่วมกันฝึกซ้อมทางทหารทุกปี แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการฝึกซ้อมแลกเปลี่ยนทักษะความช่วยเหลือด้านการค้นหาและกู้ภัย รวมทั้งการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมเท่านั้น ยังไม่เคยมีการ “ซ้อมรบ” ระหว่างสองฝ่าย
เมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้ตกลงขายอาวุธแพกเกจใหญ่รวมมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทางการไต้หวัน ซึ่งทำให้จีนที่ถือว่า เป็นจังหวัดหนึ่งของตน ประท้วงสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และเรื่องได้สร้างความบาดหมางในความสัมพันธ์สองฝ่ายตลอดปีที่แล้ว
2-3 ปีมานี้ เวียดนามได้เซ็นสัญญาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งเรือดำน้ำชั้นคิโล (Kilo-class) จำนวน 6 ลำ ซึ่งสื่อในรัสเซียรายงานว่าเมื่อรวมอู่จอดและซ่อมบำรุงมีมูลค่าถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ และยังซื้อเรือฟรีเกตติดระบบจรวดนำวิถีล้ำยุคที่ส่งมอบแล้ว 2 ลำ กับเครื่องบินรบ Su-30 รุ่นใหม่รวม 24 ลำ จากแผนการจัดซื้อทั้งหมด 44 ลำจนถึงปี 2558
.
3
4
5
เวียดนามเพิ่งได้รับมอบ Su-30MK2V อีกอย่างน้อย 8 ลำ เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งหนึ่งในรัสเซียได้นำรูปภาพเครื่องบินรบใหม่ของเวียดนามออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้
การเยือนเวียดนามของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ทั้ง 4 คน ยังมีขึ้นขณะที่สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ ประกาศแผนการซ้อมรบร่วมในเขตน่านน้ำฟิลิปปินส์ใกล้เกาะปาลาวัน ซึ่งมีอาณาเขตติดกับหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ดินแดนพิพาททางทะเลของหลายประเทศ ที่เชื่อว่า รุ่มรวยด้วยพลังงาน รวมทั้งเวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และจีนไต้หวัน ซึ่งกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะทั้งหมดหรือบางส่วน
โฆษกกองกำลังนาวิกโยธินฟิลิปปินส์กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า จีนไม่ควรจะวิตกกังวลการซ้อมรบระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เพราะทั้งหมดกำหนดอยู่ภายในน่านน้ำฟิลิปปินส์
ทั้งหมดนี้ยังมีขึ้นหลังจากรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายกลาโหมใหม่โดยเน้นผลประโยชน์ในเอเชียแปซิฟิกมากยิ่ง
ปัจจุบันกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2-3 ฝูง ยังคงแล่นเข้าออกในย่านแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือกับทะเลจีนใต้เป็นระยะๆ เพื่อร่วมการฝึกซ้อมกับพันธมิตรในภูมิภาคนี้
สหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดจรวดร่อนโทมาฮอว์คอีกลำหนึ่งไปประจำในทะเลซูลู ใกล้ฟิลิปปินส์โดยให้เหตุผลว่า เพื่อพิทักษ์เส้นทางเดินเรือเสรีในทะเลจีนใต้.