ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นักวิทยาศาสตร์ในเวียดนามประดิษฐ์สีทาเครื่องบินเพื่อช่วยหลบเลี่ยงเรดาร์ได้เป็นผลสำเร็จ แบบเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯค้นคิด และใช้ทาเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ บี-2 (B-2) หนังสือพิมพ์กวานโด่ยเญินซเวิน (Quân Đội Nhân Dân) หรือ “กองทัพประชาชน” รายงานยืนยันเรื่องนี้ โดยมิได้ให้รายละเอียดใดๆ เช่นเคย
“สีล่องหน” ของนักวิทยาศาสตร์เวียดนาม ตกเป็นข่าวตามเว็บไซต์ภาษาเวียดนามหลายแห่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ
หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของกองทัพ กล่าวว่า การประดิษฐ์สีพิเศษนี้ เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวัสดุและเคมี ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการทหาร สีมีคุณสมบัติช่วย “ซึมซับ” คลื่นเรดาร์ของข้าศึกมิให้ตรวจจับอากาศยานของฝ่ายตนได้ และไม่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี
สีที่เรียกชื่อว่า PD/RAP-MEH นี้ ประกอบด้วย สารดูดซับคลื่นเรดาร์อีกชั้น (Class) หนึ่งที่ใช้ในเทคโนโลยีล่องหน (Stealth) เพื่ออำพรางยานพาหนะ อากาศยาน อาวุธ หรือกระทั่งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้รอดพ้นจากการตรวจจับของเรดาร์ได้ ซึ่งได้ทำการทดลองอย่างได้ผลมาแล้ว
กองทัพของหลายประเทศกำลังทำการวิจัยเพื่อผลิตสีล่องหนออกมาใช้งานเช่นกัน “กองทัพประชาชน” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมเวียดนาม กล่าว
สารประกอบ PD/RAP-MEH เป็นสีดำ ประกอบด้วย สารสังเคราะห์ผ่านกระบวนการแม่เหล็กโดยใช้โพลีพีร์โรล (Polypyrrole) กับ แบเรียมเฟอร์ไรต์ (Barium Ferrite) เป็นพื้นฐาน เนื้อมีความยืดหยุ่นสูงติดทนนาน หากทาหนา 2 มิลลิเมตร จะสามารถดูดซับคลื่นเรดาร์ช่วงความถี่ตั้งแต่ 8-12 กิกะเฮิรตซ์ได้ถึง 94%
วัสดุและส่วนประกอบทั้งหมดของสีล่องหน สามารถหาได้ในเวียดนามและกระบวนการผลิตไม่สลับซับซ้อน กวนโด่ยเญินซเวิน รายงานโดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะนำสีดังกล่าวเข้าใช้งานในกองทัพหรือไม่ และอย่างไรบ้าง
2
3
บริษัท นอร์ธร็อพกรัมแมน และบริษัท โบอิ้ง แห่งสหรัฐ ออกแบบเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ บี-2 “สปิริตออฟอินเดียนา” เพื่อให้ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของอดีตสหภาพโซเวียต ที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาได้ โดยรอดพ้นจากการตรวจจับ รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ตั้งใจจะนำเข้าประจำการในกองทัพอากาศถึง 132 ลำ แต่เมื่อความตึงเครียดในยุคสงครามเย็นค่อยๆ ลดลง ก็หมดความจำเป็นและผลิตออกมาใช้งานเพียง 21 ลำ
ปัจจุบันกองทัพสหรัฐฯยังเหลือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่รุ่นนี้อยู่เพียง 20 ลำ เนื่องจากหนึ่งลำประสบอุบัติเหตุตกลงเสียหายยับเยินในปี 2551 หลังบินขึ้นเพียงไม่นาน แต่นักบินกับลูกเรือดีดตัวเองออกได้โดยปลอดภัย
บี-2 ถูกออกแบบให้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ แต่ก็สามารถทิ้งระเบิดประเภท “สมาร์ทบอมบ์” หรือระเบิดที่นำวิถีด้วยจีพีเอสได้เช่นกัน และเคยนำออกใช้งานในเซอร์เบียในช่วงสงครามแคว้นโคโซโวปี 2552 จากนั้นนำออกปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน รวมทั้งสนับสนุนการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดี มูอัมมาร์ กัดดาฟี ในลิเบีย เมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับเวียดนามไม่เคยปรากฏมีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ แต่มีเครื่องบินขับไล่โจมตีตระกูลมิก (Mikoyan) กับ ซู (Sukhoi) ที่ผลิตในอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้ง SU-30MK2V ที่ผลิตในรัสเซียซึ่งปัจจุบันมี่ประจำการจำนวน 4 ลำ และกำลังจะได้รับอีก 20 ลำ ตามกำหนดในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีเรือฟรีเกตชั้นเกพาร์ดชั้น 3.9 ที่ติดระบบอาวุธป้องกัน และโจมตีที่ทันสมัยจำนวน 2 ลำ ซึ่งออกแบบเป็นรูปทรงหลบเลี่ยงเรดาร์โดยใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ นอกจากนั้นยังมีเรือเร็วโจมตีขนาดเล็ก ติดจรวดนำวิถีทันสมัยอีกจำนวนมาก
.
4
5
6