ซินหัว -- เจ้าหน้าที่ระดับบรรณาธิการบริหารและผู้แทนระดับอาวุโสของสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับสื่อสิ่งพิมพ์ในกัมพูชาจำนวน 32 คน ได้ร่วมกันเห็นชอบกฎระเบียบในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งกับไทย เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด หรือการชี้นำที่อาจจะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น
คำแถลงที่สโมสรนักหนังสือพิมพ์แห่งกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists) ออกในวันจันทร์ (28 พ.ค.) หลังการประชุมสัมมนาของเหล่าบรรณาธิการเป็นเวลา 2 วันที่เมืองแก๊บ (Kep) ห่างจากกรุงพนมเปญ ลงไปทางใต้ 180 กิโลเมตร ได้เรียกร้องให้บรรณาธิการบริหารและผู้แทนอาวุโสของสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออิเลกทรอนิกส์สำนักใหญ่ๆ ทั้งหมด ยอมรับปฏิบัติ “กฎ 11 ข้อ” ในการเสนอข่าวความขัดแย้งชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายแดนไทย นอกเหนือจากการรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งภายใน
คำแถลงระบุว่า กฎดังกล่าวเป็นการสนองตอบต่อข้อสังเกตรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับความขัดแย้งชายแดนระหว่างกัมพูชากับไทยซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2551 และยุติลงในกลางปี 2553
ในบรรดากฎดังกล่าว ทุกฝ่ายได้ตกลงที่จะ “หลีกเลี่ยงการเสนอข่าวหรือรายงานใดๆ ที่จะนำไปสู่การเกิดความเกลียดชังอีกชาติหนึ่ง หรือศาสนาหนึ่งหรือเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ทางการทูต อันเป็นผลลัพธ์จากวิเคราะห์ข่าวที่ไม่ชัดเจนหรือไม่มีมูลความจริงของตน”
“หลีกเลี่ยงภัยการ (ทำให้เกิด) อันตรายต่อประชาชนกัมพูชา หรือประชาชนจากประเทศที่เกิดความขัดแย้งกับกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนและบรรดาคนงานหรือนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด” คำแถลงระบุ
ระหว่างการติดตามรายงานข่าวความขัดแย้งชายแดนกับไทยนั้น แม้จะไม่ได้มีอะไรบั่นทอนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศก็ตาม ก็ยังปรากฏว่า มีนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่มีความถดถอยทางวิชาชีพ รายงานโดยอาศัยแหล่งข่าวอันจำกัดหรือรายงานข่าวข้างเดียว คำแถลงของ CCJ ซึ่งเป็นสมาคมสื่อใหญ่ที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ กล่าว
กัมพูชากับไทยได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างกันขึ้นในปี 2551 หลังจากกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารที่อยู่ใกล้เส้นเขตแดนกับไทยเป็นมรดกโลก