เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่พม่า ระบุว่า ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีเต็งเส่งนั้น อนุญาตให้แรงงานในพม่าตั้งสหภาพและผละงานประท้วงได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
แหล่งข่าวจากรัฐบาลพม่า ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่ที่ลงนามรับรองให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคาร (11 ต.ค.) โดยประธานาธิบดีเต็งเส่งนั้นจะนำมาใช้แทนกฎหมายสหภาพแรงงานปี 2505
“แรงงานจะมีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพและผละงานประท้วงภายใต้กฎหมายฉบับนี้” เจ้าหน้าที่รัฐบาลนายหนึ่ง กล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าว ระบุว่า แรงงานที่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ สามารถตั้งสหภาพได้ โดยจะต้องมีสมาชิกอย่างต่ำ 30 คน และมีชื่อและสัญลักษณ์ของตัวเอง และว่านายจ้างต้องได้รับแจ้งล่วงหน้าก่อน 14 วัน และสหภาพต้องระบุล่วงหน้าว่าประชาชนจำนวนเท่าใดที่จะมีส่วนในการผละงาน
สำหรับผู้ให้บริการในภาคส่วนที่จำเป็น เช่น บริการด้านสุขภาพ ดับเพลิง โทรคมนาคมสื่อสาร ประปาและไฟฟ้า จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผละงานประท้วง ทั้งนี้ หากทำผิดกฎหมาย นายจ้างจะต้องถูกปรับเป็นเงิน 100,000 จ๊าต (125 ดอลลา) หรือจำคุก 1 ปี ขณะที่ลูกจ้างจะถูกปรับเงิน 30,000 จ๊าต (38 ดอลลาร์)
นายสตีฟ มาร์แชลล์ จากองค์การแรงงานสากล (ILO) สำนักงานประสานงานสหประชาชาติในพม่า กล่าวว่ามีความยินดีต่อกฎหมายฉบับใหม่แต่ระบุว่าเขายังไม่ได้ศึกษาตัวบทกฎหมายอย่างละเอียด แต่ในหลักการนับว่าเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลพม่า และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และว่าการเคลื่อนไหวของแรงงานในพม่ามักจบลงที่การถูกจับกุม อาจต้องใช้เวลากว่าที่แรงงานเหล่านี้จะมีความกล้าพอที่จะใช้สิทธิของตนตามกฎหมายฉบับใหม่นี้