เอเอฟพี - กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุ พบฝูงวัวแดงจำนวนมากในป่าทางตะวันออกของกัมพูชา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในเอเชีย สำหรับฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
จากการสำรวจ WWF ระบุว่า อาจมีเสืออาศัยอยู่ในป่าทางตะวันออกของประเทศไม่เกิน 5 ตัว แต่จำนวนประชากรวัวแดง ที่เป็นวัวป่าพันธุ์หนึ่ง จะกลายเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้กับเสือได้ขยายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เตือนว่า การให้สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตรและแผนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กำลังคุกคามความพยายามที่จะอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ รวมทั้งเสือและเหยื่อของมัน
การวิจัยที่ดำเนินการโดย WWF และรัฐบาลกัมพูชา ประเมินว่า มีฝูงวัวแดงราว 2,700-5,700 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบตะวันออกของประเทศ
“เพื่อฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือ สิ่งหนึ่งที่สำคัญและจำเป็น คือ แหล่งอาหารอย่างยั่งยืน เช่น วัวแดง” WWF กล่าว
“ที่ราบภาคตะวันออกของกัมพูชาอาจเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในเอเชียสำหรับฟื้นฟูประชากรเสือ ที่ทั้งสภาพและขนาดของพื้นที่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัย และการลงทุนลงแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้กับการบังคับใช้กฎหมายและการจัดการคุ้มครองพื้นที่ที่ดีขึ้นทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน” WWF ระบุ
ผลการวิจัยชี้ยังให้เห็นว่า กัมพูชามีประชากรวัวแดงมากที่สุดในโลก จากจำนวนประชากรวัวแดงทั่วโลกอยู่ที่ 5,900-11,000 ตัว รวมทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นของประชากรหมูป่าและเก้งด้วย
“สัตว์ทุกชนิดเป็นเหยื่อที่สำคัญสำหรับเสือที่กำลังประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก ทั่วทั้งกัมพูชาและในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ช่วงไม่กี่สิบปีมานี้” WWF ระบุ
นับตั้งแต่ปี 2539 วัวแดงถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ว่า เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
WWF ได้สำรวจพื้นที่คุ้มครอง 2 แห่ง ที่ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร และเตือนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ป่าในที่ราบตะวันออกและพื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงที่จะถูกสัมปทาน.