เอเอฟพี - สิงห์สีบรอนซ์ สัญลักษณ์ของพรรครัฐบาล ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าทางเข้าที่มุ่งไปสู่รัฐสภาหลังใหม่ของพม่า อันเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองประเทศที่เต็มไปด้วยทหารและบรรดาพันธมิตรทางการเมือง
อาคารโอ่อาใหญ่โตใจกลางกรุงเนปีดอหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นผลงานชิ้นสำคัญในขั้นตอนพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยตามคำมั่นของฝ่ายปกครองชุดก่อน และเป็นสัญลักษณ์ที่อ้างถึงความคาดหวังของประชาชนผ่านการดำเนินการของรัฐสภา และเมื่อก้าวเข้าไปด้านใน อาคารปูพื้นด้วยหินอ่อน ติดโคมไฟแชนเดอเลียและเครื่องปรับอากาศ
ทั้งนี้ 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในสภาได้ถูกสำรองไว้สำหรับฝ่ายทหารก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเ และพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของพม่า ที่มีกองทัพพม่าหนุนหลังกวาดที่นั่งไปได้ถึง 80%
“ที่นี่ เราไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน สำหรับเราที่นี่ไม่มีฝ่ายตรงข้าม” นายไต อู เลขาธิการพรรค USDP กล่าวในการแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อครั้งเปิดสภาในเดือน ม.ค.
“หากเรามีฝ่ายค้าน เราก็ยังสามารถร่วมมือกันได้ แต่ในสภานี้เราไม่มีฝ่ายค้าน นอกสภาก็เช่นกัน” นายไต อู ระบุ
ผู้แทนราษฎรหลายร้อยคน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาย และ 1 ใน 4 ของทั้งหมดเป็นนายทหาร หลายคนยังควบตำแหน่งเป็นสมาชิกพรรค USDP ด้วย ได้เปิดประชุมถามตอบในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ ประเด็นด้านการดูแลสุขภาพไปจนถึงโครงการลงทุนด้านพลังงานของจีน และล่าสุดรัฐสภาเพิ่งผ่านมติสนับสนุนการอภัยโทษนักโทษ ที่พรรครัฐบาลระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแนวทางประชาธิปไตย
ความต้องการให้ปล่อยนักโทษการเมืองมากกว่า 2,000 คนในพม่าเป็นประเด็นสำคัญสำหรับชาติตะวันตกที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรพม่าในขณะนี้
ส่วน นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ไม่มีเสียงในสภา เพราะการบอยคอตการเลือกตั้งในปีก่อนเนื่องจากกฎระเบียบที่บังคับให้ถอนสมาชิกที่ถูกจำคุก ส่งผลให้พรรคถูกถอนออกจากรายชื่อพรรคการเมือง และถูกเตือนในเดือนมิ.ย.ให้พรรค NLD ยุติกิจกรรมที่ผิดกฎหมายทั้งหมด ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการสัมภาษณ์ในกรุงย่างกุ้ง ว่า นางยังคงเชื่ออย่างมากว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง
นายโก โก หล่าย ที่ปรึกษาประธานาธิบดี กล่าวว่า กฎหมายที่ป้องกันนักโทษเป็นสมาชิกพรรคอาจจะได้รับการแก้ไข ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจช่วยทำให้พรรค NLD กลับมาสู่สนามการเมืองอย่างเป็นทางการได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นางซูจี ยังคงสงสัยว่าบรรดาผู้บัญญัติกฎหมายชุดใหม่เหล่านี้จะสร้างความแตกต่างได้หรือไม่
“แม้ว่า สภาชุดใหม่จะมีความเคลื่อนไหวและอภิปรายถกเถียงในหลายประเด็น แต่ฉันไม่คิดว่าจะมีอะไรออกมาจากรัฐภาในตอนนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชน” ซูจี กล่าว
การบอยคอตการเลือกตั้งของพรรค NLD ในครั้งนั้น ทำให้มีสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งแยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในชื่อ พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDF) ซึ่งได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาเช่นกัน โดย นายขิ่น หม่องฉ่วย หัวหน้าพรรค NDF กล่าวว่า พม่าอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง
“เราไม่ได้คาดหวังมากนักที่จะกลายเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ แต่ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราต้องยอมรับสภาที่เป็นอยู่ตอนนี้” นายหม่องฉ่วย กล่าว
.
นอกจากความคิดเห็นของบรรดาผู้บัญญัติกฎหมาย ภายนอกก็ปรากฏให้เห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนที่ผ่านมา นางซูจี ได้พบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งที่ทำเนียบ และเชื่อว่าผู้นำคนใหม่มีความปรารถนาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย
“มีแต่หน้าเก่าในสนามการเมือง แต่เกมกำลังเปลี่ยน รัฐบาลชุดก่อนควบคุมโดยทหาร เป็นระบบคำสั่งจากบนลงล่างและขึ้นอยู่กับส่วนกลาง แต่ในตอนนี้เรามีระบบประชาธิปไตย” นายโก โก หล่าย กล่าว
แม้ว่าบางคนจะมองว่าเต็งเส่งเป็นตัวแทนทหาร แต่บางคนก็มองว่าเต็งเส่งพร้อมที่จะปฏิรูปประเทศ
“ประธานาธิบดีมีความตั้งใจดีที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง” นายขิ่น หม่องฉ่วย กล่าว
และจนกว่าจะมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลายคนยังจับตาดูรัฐบาลพม่าหวังให้แสดงท่าทีมากกว่าแค่ปล่อยตัวนักโทษ
เจ้าหน้าที่ทางการทูตของตะวันตกในกรุงย่างกุ้งรายหนึ่ง กล่าวว่า ทุกคนเต็มไปด้วยความคลางแคลงใจ เพราะให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ในอดีต ทำให้การฟื้นสัมพันธไมตรียังไม่เกิดขึ้น