ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ในช่วง 12 เดือนนี้ จำนวนชาวพม่าในประเทศไทยที่มีหนังสือเดินทางอย่างถูกต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า หลังจากทางการพม่าเข้ามาเปิดสำนักงานให้บริการถึงที่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นการยากที่จะทราบว่าปัจจุบันมีแรงงานชาวพม่าในประเทศไทยทั้งหมดจำนวนเท่าไร
จนถึงวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานของทางการพม่าในแหล่งต่างๆ ตามแนวชายแดนติดกับไทย ได้ออกหนังสือเดินทางให้กับคนงานชาวพม่ากว่า 530,000 คน ตามแผนการที่เริ่มในเดือน ก.ค.2552 จำนวนนี้เพิ่มขึ้นจาก 118,000 คน ในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ รายงานโดยอ้างตัวเลขกระทรวงกิจการภายใน
ในจำนวนกว่า 5 แสนคนดังกล่าว ขอหนังสือเดินทางที่สำนักงานใน จ.ระนอง มากที่สุด คือ 341,596 ราย นับตั้งแต่เปิดให้บริการที่นั่นในวันที่ 30 มิ.ย.2553 แต่ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า คนงานชาวพม่าอาจจะทำงานในภาคใต้ของไทยมากที่สุด เนื่องจากมีคนงานเดินทางจากภูมิภาคอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไปขอหนังสือเดินทางที่นั่น
รองลงไปคือ จำนวน 94,062 รายออกให้โดยสำนักงานของทางการที่เมืองท่าขี้เหล็ก ชายแดนติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงรายของไทย สถิติอย่างเป็นทางการระบุ
เมื่อเริ่มโครงการนี้ใหม่ๆ คนงานพม่าสามารถไปยื่นขอหนังสือเดินทางได้หลายแห่ง คือ ที่เมียววดีชายแดนรัฐกะเหรี่ยง เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชาน และ เกาะสอง (Kawthaung) ในเขตตะนาวศรี (ตรงข้าม จ.ระนอง) แต่สำนักงานเมียววดีปิดมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2553 เนื่องจากความไม่สงบภายใน และในเดือนต่อมาสำนักงานท่าขี้เหล็กก็ปิดลงอีกแห่ง
ตั้งแต่นั้นมาสำนักงานที่ จ.ระนอง จึงเป็นเพียงแห่งเดียวที่ทางการพม่าให้บริการออกหนังเดินทางแก่คนงานในประเทศไทย และ เจ้าหน้าที่กระทรวงกิจการภายในคนหนึ่งบอกกับเมียนมาร์ไทมส์ว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีแผนการจะเปิดสำนักงานในที่อื่นอีก
“สำนักงานระนองออกหนังสือเดินทางจำนวนมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะเปิดได้เพียงประมาณปีเดียวก็ตาม เพราะว่าที่นั่นสะดวกสำหรับคนงานพม่าในประเทศไทย” เจ้าหน้าที่คนเดียวกัน กล่าว
.
ตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีนี้เป็นต้นมา ทางการพม่าได้ยืดอายุหนังสือเดินทางให้คนงานจากเดิม 3 ปีเป็น 6 ปี ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย
ก่อนหน้านี้ ชาวพม่าที่ทำงานในประเทศไทยไม่ค่อยกล้าเดินทางไปไหนมาไหนนอกจากสถานที่ทำงาน เพราะว่ามีเพียงบัตรประจำตัวคนงานเท่านั้น การมีหนังสือเดินทางทำให้ทุกคนไปไหนมาไหนได้สะดวก และยังสามารถเดินทางกลับประเทศทางเครื่องบินได้อีกด้วย
หลายปีมานี้รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศ โดยให้นายจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การออกหนังสือเดินทางให้คนงานเหล่านี้สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อีกหลายด้าน
เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวก่อนหน้านี้ ว่า มีแรงงานเขมรในประเทศไทยไปขึ้นทะเบียนกว่า 80,000 คน และ ยังไม่ทราบว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าไร
เจ้าหน้าที่ลาว กล่าวก่อนหน้านี้เช่นกัน ว่า มีแรงงานชาวลาวในประเทศไทยไปขึ้นทะเบียน 200,000 คนเศษ และยังมี “อีกจำนวนมาก” ที่ยังไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน
ปัจจุบันทางการลาวได้ตั้งสำนักงานจัดหางานให้กับราษฎรเพื่อไปทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังชาวลาวอีกจำนวนมากที่ลักลอบข้ามแดนเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย
สำหรับพม่า เชื่่อกันว่า มีแรงงานจากประเทศนี้เกือบ 1 ล้านคนกำลังทำงานในไทย เป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหญ่ที่สุด และหากตัวเลขนี้เป็นจริง ก็จะยังมีแรงงานพม่าอีกเกือบครึ่งต่อครึ่ง ยังทำงานอย่างผิดกฎหมายต่อไป
.