ซเวินจี๊/เอเอฟพี - เวียดนามจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีกเกือบครึ่งหนึ่งในขอบเขตทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อช่วยประชาชนรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดแห่งหนึ่งในโลก และเป็นความพยายามในการลดแรงกดดันด้านค่าจ้างแรงงาน ที่ทำให้เกิดการนัดหยุดงานนับพันครั้งๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ฝ่ายนายจ้างโอดโอยว่ามาตรการของรัฐบาลกำลังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประกอบธุรกิจ
รัฐบาลเวียดนามแถลงวันจันทร์ (22 ส.ค.) ว่า ธุรกิจต่างๆ ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของประเทศ จะต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 2 ล้านด่งต่อเดือน (95 ดอลลาร์)
อัตราดังกล่าวจะปรับทั้งกิจการที่เป็นของชาวเวียดนามและต่างชาติ โดยบริษัทที่ชาวเวียดนามเป็นเจ้าของกิจการจะปรับเพิ่ม 48% และบริษัทของต่างชาติจะต้องปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราของบริษัทในสประเทศอีกราว 29%
ตามกฤษฎีกาที่ออกโดยรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2554 จนถึง 1 ต.ค.2515 โดยปรับใช้ในอัตราต่างกัน โดยแบ่งไปตามโซนจังหวัดทั่วประเทศ โซนแรกปรับขึ้นอัตราสูงสุด 2 ล้านด่งหรือ 96 ดอลลาร์ต่อเดือน ในกรุงฮานอย นครด่าหนัง จ.บ่าเหรียะ-หวุงเต่า นครโฮจิมินห์ จ.กว๋างนีง จ.บิ่งซเวือง กับ จ.โด่งนาย
โซนที่ 2 ครอบคลุมนครหายฝ่อง (ฮายฟอง) นครเกิ่นเทอ จ.หวีงฟุก ถายงเวียน แค๊งฮวา บี่งเฟื้อก เตยนีง ลองอาน อานซยาง กับ จ.ก่ามาว ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 1.78 ล้านด่ง (85.4 ดอลลาร์) ต่อเดือน
โซนที่ 3 ปรับขึ้นเป็น1.55 ล้านด่ง (74.3 ดอลลาร์) ใน จ.บั๊กนีง หาย-ยเวือง ฮุงเอียน จ.เถือะเทียนเหว (รวมทั้งนครเหว) จ.บี่งดิง ซยาลาย ดั๊กลัก เลิมโด่ง นีงทวน บี่งทวน โด่งท้าป เตี่ยนซยาง หวีงลอง เบ๊นแจ เกียนซยาง โห่วซยาง ซ็อกจาง และ จ.บั๊กเลียว
คนงานไร้ฝีมือในท้องถิ่นอื่นๆ นอกจากจังหวัดใน 3 โซนดังกล่าว จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 1.4 ล้านด่งหรือ 67.1 ดอลลาร์ต่อเดือน
ตามรายงานของสำนักข่าวซเวินจี๊ สำหรับสถานประกอบการที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นสูงกว่า บริษัทเวียดนามทั่วไปตั้งแต่ 120,000-270,000 ด่ง (5.7-12.9 ดอลลาร์)
2
เวียดนามดำเนินการครั้งนี้ตามพันธสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้แก่ประชาชนเมื่อครั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ถึงแม้กระทรวงการเงินจะพยากรณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumers Price Index) ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดอัตราเฟ้อของเงินจะยังคงขยายตัวสูงขึ้นอีกราว 1% ในเดือน ส.ค.นี้
อัตราเงินเฟ้อสะสมปีนี้พุ่งขึ้นเป็นประมาณ 16% ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2553 เป็นต้นมา และ รัฐบาลตั้งเป้าจะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเฉลี่ย 17% ตลอดปีนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำมิใช่รายได้ต่อเดือนทั้งหมดของคนงาน ตามกฎหมายแรงงานของเวียดนามนั้น บริษัทนายจ้างยังจะต้องจัดสวัสดิการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมอีกด้วย และในความเป็นจริงบริษัทชั้นนำแห่งต่างๆ จ่ายค่าจ้างในอัตราสูงกว่านี้ถึงเท่าตัว
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดูจะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในอัตราสูง ซึ่งนำไปสู่การนัดหยุดงานในรอบปีทีผ่านมาซึ่ง สื่อของทางการรายงานว่าเกิดขึ้น “นับพันๆ ครั้ง” ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่คนงานได้เรียกร้องการขึ้นค่าจ้างและให้บริษัทนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ
สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานเวียดนามพบว่า แรงงานในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ได้รับค่าจ้างระหว่าง 1.8-2.5 ล้านด่งต่อเดือน แต่เป็นอัตราที่ต่ำมากหากเทียบกับราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้านสหภาพแรงงานยังระบุว่า การผละงานประท้วงก็เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์
แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กำลังจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ยากลำบากมากขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ขึ้นไปอีก
สำนักข่าวเวียดนามนิวส์อ้างคำกล่าวของนางดังเฟืองซวุง (Dang Phuong Dung) รองประธานสมาคมเสื้อผ้าและสิ่งทอเวียดนาม ที่เป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจว่า ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจการที่กำลังประสบปัญหาต้นทุนสูงอยู่แล้ว และสุดท้ายจะส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน นักการทูตรายหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาเรื่องค่าแรงจะยิ่งทำให้ภาษีนำเข้าสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติต้องคิดทบทวนอีกครั้งในการเข้าลงทุนในเวียดนาม สำนักข่าวเอเอฟพีกล่าว.
หลากชีวิตใต้พิษเงินเฟ้อ Reuters, AFP
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20